สรุปสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอาร์เจนตินา

 สรุปสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมอาร์เจนตินา ในปี 2559

 

1. ภาพรวมของสภาวะทางการเมืองภายในประเทศ

            1.1 นับตั้งแต่ประธานาธิบดี Mauricio Macri และพรรคร่วมรัฐบาล[1] เริ่มบริหารประเทศเมื่อ 10 ธ.ค. 2558 สภาวะทางการเมืองภายในประเทศมีความมั่นคงค่อนข้างดี รัฐบาลมีเสถียรภาพพอสมควร ถึงแม้พรรคร่วมรัฐบาลจะมีเสียงข้างน้อยในรัฐสภา แต่ก็สามารถบริหารประเทศได้โดยยังไม่ประสบอุปสรรคทางการเมืองที่ชัดเจนจากพรรคฝ่ายค้านมากนัก ส่วนหนึ่งมาจากจังหวะเวลาอันเหมาะสมที่รัฐบาล Macri เข้าบริหารประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนเบื่อหน่ายกับระบอบ Kirchnerism ที่ครองอำนาจมากว่า 12 ปี และความฝืดเคืองของเศรษฐกิจจนเกิดกระแสของการตั้งความหวังเพื่อรอการเปลี่ยนแปลง ทำให้กลุ่มการเมืองและภาคธุรกิจส่วนใหญ่ให้โอกาสแก่รัฐบาลชุดนี้ที่ประกาศจะฟื้นฟูประเทศด้วยนโยบายเศรษฐกิจเสรีซึ่งตรงกันข้ามกับนโยบายของรัฐบาลชุดก่อน

1.2 แม้ว่าพรรค PRO ของนาย Macri จะมีขนาดเล็ก แต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2558 ถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว ยังได้ตำแหน่งนายกเทศมนตรีกรุงบัวโนสไอเรส (Mayor of Buenos Aires City) และผู้ว่าราชการจังหวัดบัวโนสไอเรส (Governor of Buenos Aires Province) ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวรวมแล้วมีประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ นับเป็นครั้งแรกที่พรรค PRO ชนะการเลือกตั้งในการชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งแต่เดิมเคยชนะเฉพาะระดับนายกเทศมนตรีกรุง บัวโนสไอเรส และเป็นครั้งแรกในรอบ 28 ปี ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดบัวโนสไอเรสไม่ได้มาจากกลุ่ม Peronist

1.3 รัฐบาลมุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจมหภาค (เงินเฟ้อ เศรษฐกิจถดถอย ขาดความสามารถในการแข่งขัน หนี้สาธารณะ) พัฒนาประเทศให้ทันสมัย ปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศ และส่งเสริมการค้าการลงทุนกับต่างชาติ รวมทั้งมุ่งแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ปรับปรุงโครงสร้างระบบราชการ หน่วยข่าวกรอง และกระบวนการยุติธรรม นาย Alfonso Prat-Gay รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคาดว่าเศรษฐกิจจะเริ่มปรับตัวในเชิงบวกเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่าหากยังไม่เห็นผลภายในครึ่งแรกของปี 2560 อาจส่งผลเสียต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและในตัวประธานาธิบดี และอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง midterm election ในเดือน ต.ค. 2560 ซึ่งขณะนี้ทั้งพรรคฝ่ายค้าน กลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ และสหภาพแรงงาน กำลังรอจังหวะอันเหมาะสมเพื่อโจมตีผลงานของรัฐบาลเมื่อมีโอกาส

1.4 รัฐบาลได้จัดตั้งกระทรวงใหม่ ๆ ได้แก่ Ministry of Modernization, Ministry of Environment, Ministry of Transport, Ministry of Energy และแบ่ง Ministry of Economy ออกเป็น Ministry of Treasury and Finance และ Ministry of Production โดยหวังจะพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัย มีการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ และเพิ่มผลผลิตอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ

1.5 สรุปผลงานโดดเด่นของรัฐบาลในช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา อาทิ การปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศ การฟื้นฟูภาพลักษณ์ในเวทีระหว่างประเทศที่จะนำอาร์เจนตินากลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเสรีโลก การยกเลิกมาตรการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน การลดภาษีส่งออกบางรายการ (แร่ธาตุ ธัญพืช ถั่วเหลือง เนื้อวัว ปลา) การปฏิรูปสำนักงานสถิติแห่งชาติ (INDEC) ให้มีความน่าเชื่อถือ และการเจรจากับเจ้าหนี้ vulture funds จนสำเร็จโดยรัฐสภาให้ความเห็นชอบให้รัฐบาลออกพันธบัตรชุดใหม่เพื่อระดมทุนนำไปชำระหนี้ได้เกือบหมดแล้ว

 

2. ภาพรวมของสภาวะทางเศรษฐกิจภายในประเทศ

2.1 สภาวะเศรษฐกิจอาร์เจนตินาในปี 2559 ซบเซาและถดถอยอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 คาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ร้อยละ -1.8 ตามการประเมินของ IMF และ CEPAL[2] เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงถึงร้อยละ 43.1 ตามการประเมินของสำนักงานสถิติกรุงบัวโนสไอเรส[3]

ซึ่งเป็นตัวเลขสองหลักมากว่า 10 ปี ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นมากจนประชาชนมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย การบริโภคภาคเอกชนจึงลดลง นอกจากนี้ เงินทุนที่รัฐบาลเร่งใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและรักษาการอุดหนุนสวัสดิการสังคมทำให้รัฐบาลมีบัญชีขาดดุลค่อนข้างมากในปีนี้

2.2 อีกปัจจัยหนึ่งของความถดถอยอาจเกิดจากความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจที่สะสมต่อเนื่องเป็นเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลประธานาธิบดี Néstor Kirchner และประธานาธิบดี CFK มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบซ้าย-กลาง มีนโยบายปกป้องตลาดภายในประเทศและควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ขาดการหมุนเวียนของเงินทุนและสินค้า ขาดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งผลพวงจากภาระหนี้ vulture funds และการใช้จ่ายเงินเกินตัวของภาครัฐเพื่อนำไปอุดหนุนสังคม ทำให้เงินสำรองของประเทศร่อยหรอ

2.3 นอกจากนี้ วิกฤตเศรษฐกิจในบราซิลมีผลกระทบต่ออาร์เจนตินาอย่างมากเพราะอาร์เจนตินาพึ่งพาตลาดบราซิลเป็นหลัก อุตสาหกรรมในประเทศขาดรายได้จากคู่ค้าสำคัญ และอาร์เจนตินามีขีดความสามารถในการแข่งขันกับโลกภายนอกต่ำ ทำให้เศรษฐกิจฝืดเคืองไม่ไหลเวียน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ รวมทั้งการที่อาร์เจนตินาพึ่งพารายได้จากการส่งออกสินค้าขั้นปฐมประเภทวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมากกว่าสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม จึงมักจะได้รับผลกระทบโดยตรงเมื่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกผันผวน

2.4 เมื่อรัฐบาล Macri ซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบขวา-กลาง เข้าบริหารประเทศ ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศโดยมุ่งขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่กลไกของตลาดโลกในระบบเศรษฐกิจเสรี และได้พยายามอย่างต่อเนื่องที่จะแก้ไขภาพลักษณ์และฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ นักวิเคราะห์มองว่า ในบรรดามาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการมา มาตรการที่ถือว่าโดดเด่นลำดับต้น ๆ ได้แก่ การพยายามดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ การปรับปรุงกฎระเบียบการนำเข้า - ส่งออก การสร้างบรรยากาศทางธุรกิจและบรรยากาศทางเศรษฐกิจมหภาค การเอื้อต่อการแข่งขันในภาคเอกชน การค้าระหว่างประเทศ และการปรับปรุงมาตรการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนมาตรการทางภาษีและความคล่องตัวของระบบการทำธุรกรรมยังเป็นจุดที่ไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควรเพราะมีผู้เสียผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องจำนวนมากเป็นอุปสรรค แต่ในภาพรวมนับว่ารัฐบาลมีความพยายามในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ที่ผ่านมา รัฐบาลอดีตประธานาธิบดี CFK มีนโยบายที่ไม่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศเท่าใดนักทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น

2.5 เมื่อวันที่ 12 - 15 ก.ย. 2559 รัฐบาล Macri ได้จัดงาน Argentina Business and Investment Forum (CEOs Forum) เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนในอาร์เจนตินา โดยเชิญผู้บริหารธุรกิจที่สำคัญ ๆ ทั้งจากในและต่างประเทศ รวมทั้งผู้แทนภาครัฐของประเทศต่าง ๆ รวมประมาณ 1,500 คน ตั้งเป้าให้เป็นงานใหญ่ครั้งประวัติการณ์ ซึ่งประสบความสำเร็จมากพอสมควร ประธานาธิบดี Macri หวังจะให้งานนี้เป็นเวทีจุดประกาย
ครั้งใหญ่เพื่อดึงดูดการค้าการลงทุนจากต่างชาติและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ภายในงานดังกล่าว บริษัทข้ามชาติหลายราย อาทิ 
Siemens, GE, Dow ChemicalPan American Silver ประกาศจะเพิ่มการลงทุนในอาร์เจนตินารวมหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในสาขา เช่น พลังงาน การขนส่ง  โครงสร้างพื้นฐาน เหมืองแร่เงินและลิเธียม ปิโตรเคมิคอล พลังงานลม และการบิน นาย John Kerry  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ประกาศในระหว่างการเยือนอาร์เจนตินาเมื่อ 3 - 4 ส.ค. 2559 ว่า สหรัฐฯ สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลอาร์เจนตินาที่จะกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก และจะผลักดันให้เกิดการลงทุนของสหรัฐฯ ในอาร์เจนตินาอย่างน้อย 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐหากประธานาธิบดี Macri ยังคงเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลอาร์เจนตินาตั้งเป้าว่าจะมีเงินลงทุนไหลเข้าประเทศรวมแล้วถึง 9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่นักวิเคราะห์มองว่าอาจจะน้อยกว่านั้น

ธนาคารกลางอาร์เจนตินาประเมินว่า เงินลงทุนจากต่างชาติ (FDI) ที่ไหลเข้ามาในประเทศในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 มีเพียง 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่คาดการณ์ว่า จะเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลังของปี 2560

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามดูในระยะยาวว่า มูลค่าการลงทุนที่แท้จริงจะเป็นไปตามที่บริษัทต่าง ๆ ประกาศไว้หรือไม่ สื่อมวลชนตั้งข้อสังเกตว่านักลงทุนที่ยังลังเลที่จะลงทุนในอาร์เจนตินาในเวลานี้เป็นเพราะเห็นว่าอาร์เจนตินายังมีภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ยังไม่ฟื้นตัวดีพอ มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง มีประวัติทางการเงินที่ขาดเสถียรภาพและเคยตกอยู่ในภาวะล้มละลายมาแล้ว รวมทั้งมีประวัติทางการเมืองที่อ่อนไหวง่าย

2.6 สถิติทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ในปี 2559 (ประมาณการ) ดังนี้

(1) อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ - 1.8

(2) ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 583.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

(3) รายได้ต่อหัวต่อปี (GDP per capita) 12,128 ดอลลาร์สหรัฐ

(4) อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 43.1

(5) อัตราแลกเปลี่ยน :

อัตราแลกเปลี่ยนทางการ ณ เดือน ธ.ค. 2559 อยู่ที่ประมาณ 15.7 เปโซ/ดอลลาร์สหรัฐ

อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืด ณ เดือน ธ.ค. 2559 อยู่ที่ประมาณ 16.1 เปโซ/ดอลลาร์สหรัฐ

(6) อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 26.75 ต่อปี

(7) เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ 40.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 63 จาก 24.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อ 10 ธ.ค. 2558

(8) หนี้สาธารณะ 323 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

(9) อัตราการว่างงาน ณ เดือน ก.ย. 2559 ประมาณร้อยละ 9.3

(10) อัตราความยากจน ณ เดือน ก.ย. 2559 ประมาณร้อยละ 34.5

(11) ดุลการค้าต่างประเทศเฉลี่ยต่อเดือน 705 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

(12) อัตราส่วนการลงทุนต่อ GDP ร้อยละ 18

(13) ค่าจ้างขั้นต่ำ 8,060 เปโซ/เดือน (มีผล ม.ค. 2560)

(14) จำนวนนักท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาอาร์เจนตินาระหว่าง ม.ค. - มิ.ย. 2559 อยู่ที่ 2.8 ล้านคน จำนวนนักท่องเที่ยวอาร์เจนตินาที่เดินทางไปประเทศไทยระหว่าง ม.ค. - ต.ค. 2559 อยู่ที่ 35,523 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.16 จากช่วงเดียวกันของปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 22,319 คน นับเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางไปประเทศไทย[4]

2.7 การคาดการณ์เศรษฐกิจอาร์เจนตินาในระยะสั้นโดย The Economist ในช่วง ค.ศ. 2015 - 2020 ดังนี้

 

2015

2016

2017

2018

2019

2020

Real GDP growth (%)

2.4

-1.2

2.7

4.0

3.2

3.4

Consumer price inflation (avg. %)

26.5

42.8

23.5

13.6

9.4

7.9

Budget balance (% of GDP)

-4.8

-4.9

-4.3

-3.0

-2.8

-2.4

Current-account balance (% of GDP)

-2.5

-2.7

-2.4

-2.1

-2.2

-2.1

Money-market rate (avg. %)

22.0

31.7

23.7

14.3

10.2

9.1

Exchange rate Peso : US$ (avg.)

9.2

14.9

17.1

18.8

20.4

21.8


ในระยะยาว คาดว่าในช่วงปี ค.ศ. 2015 - 2050 GDP จะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 2.8 ต่อปี โดยในช่วง ค.ศ. 2021 - 2030 จะเติบโตสูงเฉลี่ยร้อยละ 3.1 ต่อปี และจะเติบโตช้าลงเหลือร้อยละ 2.5 ต่อปีในช่วง ค.ศ. 2041 - 2050

 

3. ภาพรวมของสภาวะทางสังคมภายในประเทศ

3.1 ประมาณครึ่งหนึ่งของคนในประเทศสนับสนุนรัฐบาล Macri และนโยบายเสรีนิยม ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งของประเทศสนับสนุน Peronism และนโยบายสังคมนิยมหรือประชานิยม

3.2 ปัจจุบัน 1 ใน 3 ของประชากรอยู่ในภาวะยากจน ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน แม้นาย Macri จะประกาศในขณะหาเสียงว่าจะเดินหน้าขจัดความยากจนให้หมดสิ้น

3.3 ในปี 2559 สภาวะทางสังคมอาร์เจนตินายังคงสะท้อนอุปนิสัยของคนภายในประเทศ กล่าวคือ
มีความอดทนต่ำ แต่ไม่มีความกระตือรือร้น จึงยังมีการชุมนุมประท้วงเรียกร้องในสิ่งที่ตนต้องการอยู่อย่างต่อเนื่อง
แต่ความถี่และความรุนแรงน้อยกว่าในสมัยรัฐบาลก่อน ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความสามารถในการเจรจาต่อรองกับสหภาพแรงงานของประธานาธิบดี 
Macri

3.4 การชุมนุมประท้วงถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมหรือธรรมเนียมปฏิบัติของสังคมอาร์เจนตินา แม้ว่าจะไม่มีเหตุอันควรแต่การชุมนุมประท้วงก็ยังคงขาดไม่ได้ แม้ในปี 2559 สหภาพแรงงานจะไม่ได้ระดมพลประท้วงใหญ่ประจำปี (general strike) ดังเช่นเคย แต่เมื่อถึงวันเฉลิมฉลอง International Worker’s Day สหภาพแรงงานใหญ่ทั้ง 5 กลุ่ม รวมหลายพันคนได้เดินทางมารวมตัวกันหน้ากระทรวงแรงงานเพื่อประท้วงนโยบายทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดี Macri นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคม กลุ่มฝ่ายซ้าย และผู้สนับสนุน Kirchnerism ก็ร่วมเดินขบวนมาสมทบด้วย ประธานาธิบดี Macri มีความสัมพันธ์ไม่สู้ดีกับกลุ่มสิทธิมนุษยชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นฝ่ายซ้าย

3.5 สังคมอาร์เจนตินายังเคยชินกับค่านิยมและวัฒนธรรมแบบเดิม ๆ กล่าวคือ การนิยมสร้างเครือข่ายส่วนบุคคลและอาศัยพวกพ้องในการทำธุรกิจหรือแก้ปัญหาต่าง ๆ มากกว่าการทำตามกฎเกณฑ์ ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้ และไม่สามารถพึ่งตนเองในการทำธุรกิจธุรกรรมต่าง ๆ ส่วนในกลุ่มผู้ใช้แรงงานและผู้ว่างงานก็เคยชินกับการได้รับการอุดหนุนรายได้และสวัสดิการสังคมจากรัฐ ทำให้ไม่นิยมพึ่งตนเองและขาดแรงจูงใจในการประกอบอาชีพหารายได้ด้วยความสามารถของตนเอง ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตช้า และเป็นสังคมที่ไม่ค่อยเกิดความสร้างสรรค์หรือแรงผลักดันในการพัฒนาเท่าที่ควร

3.6 อาร์เจนตินามีอัตราการเกิดค่อนข้างต่ำ ผู้สูงอายุมีจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลมีภาระในการอุดหนุนเงินบำนาญ ค่ารักษาพยาบาล และสวัสดิการสังคมต่าง ๆ สูง นอกจากนี้ การขาดแคลนคนวัยทำงาน ทำให้ขาดแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมทั้งในภาคแรงงานและเกษตรกรรมต้องพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมตามมา โดยเฉพาะในยามที่เศรษฐกิจซบเซา แรงงานอพยพขาดรายได้ อัตราการว่างงานและค่าครองชีพที่สูงทำให้เกิดอาชญากรรม การลักขโมย ชิงทรัพย์ และการค้ายาเสพติด

3.7 เมื่อ ส.ค. 2559 รัฐบาล Macri เสนอแผนพัฒนาการศึกษา (Commitment to Education plan) เพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนและเพิ่มอัตราการจบการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น สถิติล่าสุดระบุว่า 5 ใน 10 คน ของเด็กวัยรุ่นเรียนไม่จบมัธยมปลาย ร้อยละ 86 ของนักเรียนชั้นประถมไม่มีโอกาสเรียนเต็มวัน 8 ใน 10 ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเรียนไม่จบปริญญา และเพียงร้อยละ 4 ของคนอาร์เจนตินามีความเห็นว่าการศึกษาเป็นปัญหาของประเทศ โดยแผนพัฒนาการศึกษาฉบับนี้มีมาตรการ เช่น รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณร้อยละ 6 ของ GDP เพื่อพัฒนาการศึกษา ทำการประเมินครูและนักเรียน และจัดระดมสมองเพื่อวิเคราะห์และปรับปรุงโครงสร้างของระบบการศึกษาของประเทศ

 

4. แนวโน้มของสภาวะภายในประเทศในปี 2560

4.1 สภาวะภายในประเทศในปี 2560 ขึ้นอยู่กับผลงานการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นสำคัญ หากรัฐบาลสามารถแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้คึกคักขึ้นมาได้
ก็น่าจะทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในรัฐบาลต่อไปและลดความเสี่ยงจากการถูกโจมตีผลงานโดยฝ่ายตรงข้ามและสหภาพแรงงาน คาดการณ์ว่า ในปี 25
60 เศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวและเติบโตได้ถึงร้อยละ 3.2[5] อัตราเงินเฟ้อน่าจะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 19.7[6] อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับรัฐบาล และแม้การลงทุนจากต่างชาติจะกำลังทยอยเข้ามามากขึ้น แต่อาจต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผลตามที่คาดการณ์

4.2 มีแนวโน้มว่าภาคส่วนต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจอาจจะมีพัฒนาการเชิงบวกมากขึ้น เช่น บรรยากาศในการทำธุรกิจที่ดีขึ้น การเอื้อต่อการแข่งขันที่เป็นธรรม และอาจมีการเปิดเส้นทางบินมากขึ้นหรือเริ่มมี low-cost airline แต่ทุกอย่างอาจค่อยเป็นค่อยไปและช้ากว่าที่รัฐบาลคาดการณ์เพราะคนในประเทศซึ่งมีจังหวะเวลาที่เชื่องช้าเป็นตัวขับเคลื่อน ในขณะที่ขั้นตอนการทำธุรกรรมอันซับซ้อนจะยังคงเป็นอุปสรรค และมาตรการทางภาษีอาจจะยังยากที่จะปรับปรุง

4.3 การเลือกตั้ง mid-term election ในเดือน ต.ค. 2560 จะมีส่วนกำหนดเสถียรภาพของรัฐบาลในครึ่งหลังของวาระว่าจะได้เสียงเพิ่มขึ้นในสภาหรือ Peronist จะได้เสียงมากขึ้น ซึ่งอาจจะมีผลต่อการเลือกตั้งในปี 2562 ต่อไป โดยเฉพาะกลุ่ม Traditional Peronist จะเป็นกลุ่มที่มีความเป็นไปได้ที่จะกลับมาเป็นคู่แข่งของพรรคร่วมรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งหน้าในช่วงที่กลุ่ม Leftist Peronist เริ่มอ่อนแรงจากคดีคอร์รัปชั่นและรอยร้าวภายใน

4.4 ในปี 2560 ประธานาธิบดี Macri น่าจะพยายามใช้กลวิธีเจรจาตกลงกับสหภาพแรงงานอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เกิดการชุมนุมประท้วง อย่างไรก็ตาม โดยที่สหภาพแรงงานส่วนใหญ่มีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับกลุ่ม Peronist และ Kirchnerite จึงยากที่จะซื้อเวลาไว้ได้นาน รัฐบาลอาจต้องพบกับข้อเรียกร้องที่หนักหน่วงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวในเร็ววัน

4.5 การเพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติด เป็นประเด็นสังคมลำดับต้น ๆ ที่ประชาชนมุ่งหวังให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ นาง Maria Eugenia Vidal ผู้ว่าราชการจังหวัด Buenos Aires ได้พยายามแก้ปัญหาตำรวจคอร์รัปชั่นซึ่งเกี่ยวพันกับขบวนการค้ายาเสพติด  

4.6 นักการเมืองอาร์เจนตินาเริ่มหยิบยกประเด็นผู้อพยพในอาร์เจนตินาเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อเดือน พ.ย. 2559 ที่ผ่านมานักการเมืองอาร์เจนตินาหลีกเลี่ยงประเด็นนี้เพราะจะถูกมองว่ามีแนวคิดเอียงขวาหรือฟาสซิสต์ซึ่งไม่เป็นที่นิยมในอาร์เจนตินา สังคมบางส่วนเริ่มเห็นว่าผู้อพยพเข้ามาเบียดบังผลประโยชน์ของคนอาร์เจนตินาทั้งด้านการศึกษาและรักษาพยาบาลฟรี

 

5. แนวนโยบายต่างประเทศในปัจจุบัน

5.1 นโยบายต่างประเทศเป็นหนึ่งในนโยบายที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดจากรัฐบาลชุดที่แล้ว ภายหลังการเข้าบริหารประเทศของรัฐบาลประธานาธิบดี Macri เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2558 อาร์เจนตินามีนโยบายพัฒนาความสัมพันธ์กับทุกประเทศ เร่งขับเคลื่อนประเทศกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเสรีโลก และส่งเสริมการค้าการลงทุนกับต่างชาติ หลังจากที่รัฐบาล Kirchner มีนโยบายสร้างความใกล้ชิดกับประเทศฝ่ายซ้ายเป็นพิเศษ เช่น จีน รัสเซีย เวเนซุเอลา อิหร่าน และปกป้องตลาดภายในประเทศมานานถึง 12 ปี ในขณะที่ประธานาธิบดี Macri เร่งกระชับความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก เช่น สหรัฐฯ และประเทศในยุโรป ตามแนวทาง “classical” ที่หลายรัฐบาลในอดีตเคยใช้ แต่ก็ไม่ทิ้งความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนและรัสเซียที่รัฐบาล CFK สร้างไว้เพราะยังมีผลประโยชน์สำคัญ ๆ ที่ยังต้องพึ่งพากันอยู่ เช่น โครงการสร้างเขื่อนและโรงงานนิวเคลียร์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการกู้เงินจากจีน การส่งออกผลิตผลทางการเกษตรไปยังจีน และความร่วมมือด้านพลังงานกับรัสเซีย ซึ่งนักวิเคราะห์เรียกว่า แนวทาง “pragmatic” คือ ไม่ยึดติดในอุดมการณ์มากนักแต่เล็งผลสัมฤทธิ์เป็นสำคัญ

5.2 เมื่อวันที่ 20 - 22 ม.ค. 2559 ประธานาธิบดี Macri เข้าร่วมประชุม World Economic Forum (WEF) ที่เมือง Davos สวิตเซอร์แลนด์ เป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี ของอาร์เจนตินา และได้พบหารือกับนาย Joe Biden
รองประธานาธิบดี
สหรัฐฯ นาย David Cameron นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร นาย Benjamin Netanyahu นายกรัฐมนตรีอิสราเอล นอกจากนี้ นาย Alfonso Prat-Gay รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาร์เจนตินาได้พบหารือกับนาย Angel Gurría เลขาธิการ OECD รวมทั้งประธานาธิบดี Macri ได้เชิญชวนบุคคลสำคัญหลายประเทศให้มาเยือนและเพิ่มการลงทุนในอาร์เจนตินา ถือเป็นงานที่อาร์เจนตินาประสบความสำเร็จอย่างมากในการเปิดตัวสู่โลกภายนอกอีกครั้ง

5.3 นอกจากนี้ รัฐบาลยังประกาศจะกระชับความสัมพันธ์กับบราซิลและประเทศโซนใต้ในลาตินอเมริกา ถอยห่างจากเวเนซุเอลา และมองไปยังตลาดอื่น ๆ เพื่อส่งออกสินค้าเกษตรและดึงดูดการลงทุน เช่น กาตาร์ อิสราเอล แคนาดา เม็กซิโก ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมทั้งแสดงความสนใจจะเรียนรู้วิธีการเพิ่มประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมการผลิตจากประเทศในเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฯลฯ

5.4 ในปี 2559 ผู้นำและบุคคลระดับสูงจากหลายประเทศได้เดินทางเยือนอาร์เจนตินา ขานรับนโยบายกระชับความสัมพันธ์กับทั่วโลกของประธานาธิบดี Macri อาทิ นาย Barack Obama ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Matteo Renzi นายกรัฐมนตรีอิตาลี นาย Francois Hollande ประธานาธิบดีฝรั่งเศส นาง Federica Mogherini, High Representative of the European Union for Foreign Affairs and Security Policy และ Vice-President of the European Commission นาย Rosen Plevneliev ประธานาธิบดีบัลแกเรีย Sheikh Tamim bin Hamad Al Thani ประมุขรัฐกาตาร์ นาย Michel Temer ประธานาธิบดีบราซิล นาย Enrique Peña Nieto ประธานาธิบดีเม็กซิโก  นาย Justin Trudeau นายกรัฐมนตรีแคนาดา และนาย Shinzo Abe นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น

5.5 ในปี 2559 ประธานาธิบดี Macri ได้ไปเยือนต่างประเทศ ดังนี้ ปารากวัย (Mercosur Summit)

อุรุกวัย สวิตเซอร์แลนด์ (WEF) สหรัฐฯ (กรุงวอชิงตัน - Nuclear Security Summit และนครนิวยอร์ก - UNGAโคลอมเบีย ชิลี (Pacific Alliance Summit) ฝรั่งเศส อิตาลี วาติกัน เยอรมนี เบลเยียม เปรู บราซิล (กีฬาโอลิมปิก) และจีน (G20 Summit)

 

6. ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศมหาอำนาจ

6.1 ประธานาธิบดี Macri เยือนบราซิลเป็นประเทศแรกภายหลังได้รับเลือกตั้งเพราะเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดและเป็นคู่ค้าหลัก เยือนชิลีเป็นลำดับต่อมา กระชับความสัมพันธ์กับโคลอมเบีย เปรู อุรุกวัย และปารากวัย แต่ถอยห่างจากเวเนซุเอลา โบลิเวีย และเอกวาดอร์

6.2 บราซิล ประธานาธิบดี Macri ให้ความสำคัญกับบราซิลเป็นลำดับแรก ในโอกาสเยือนบราซิลเมื่อปลายปี 2558 ประธานาธิบดี Macri ได้หารือกับประธานาธิบดี Dilma Rousseff ถึงความสำคัญของการเป็น strategic partnership ทั้งด้านความมั่นคงและการค้า และจะส่งเสริมการค้าผ่าน Mercosur แม้จะมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกัน ต่อมาเมื่อประธานาธิบดี Rousseff พ้นจากตำแหน่ง ประธานาธิบดี Macri ยิ่งใกล้ชิดกับประธานาธิบดี Michel Temer มากขึ้นเพราะมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ใกล้เคียงกัน ประธานาธิบดี Temer เยือนอาร์เจนตินาเมื่อ ต.ค. 2559

6.3 ชิลี ความสัมพันธ์ราบรื่น อาร์เจนตินาประกาศจะซื้อไฟฟ้าและก๊าซจากชิลีจนกว่าอาร์เจนตินาจะผลิตได้เพียงพอกับความต้องการในประเทศ ทั้งสองประเทศเพิ่งเปิดใช้อุโมงค์ Agua Negra อีกครั้ง ความยาว 14 กม. เพื่อใช้สัญจรระหว่างกันและเพิ่มความสะดวกสำหรับการค้าทางตอนเหนือของสองประเทศ

6.4 อุรุกวัย ความสัมพันธ์กลับสู่ปกติ โดยก่อนหน้านี้ อดีตประธานาธิบดี Nestor Kirchner และประธานาธิบดี CFK มีความสัมพันธ์ไม่ราบรื่นนักกับประธานาธิบดี Tabaré Vazquez แม้จะมีอุดมการณ์ทางการเมืองใกล้เคียงกัน อันเนื่องมาจากปัญหาการค้า การเดินเรือในช่องแคบ Rio de la Plata ท่าเรือ และข้อพิพาท โรงงานกระดาษ

6.5 ปารากวัย ความสัมพันธ์ดี ประธานาธิบดี Macri และประธานาธิบดี Horacio Cartes ค่อนข้างใกล้ชิดกันเพราะเป็นนักธุรกิจใหญ่ทั้งคู่ และต่อต้านเวเนซุเอลาเหมือนกัน

6.6 เวเนซุเอลา ประธานาธิบดี Macri ต่อต้านรัฐบาลประธานาธิบดี Nicolas Maduro และเคยเสนอให้
ถอดถอนสมาชิกภาพเวเนซุเอลาจาก Mercosur เพราะประธานาธิบดี Maduro ละเมิดสิทธินุษยชนโดยจับกุมนาย Leopoldo López แกนนำผู้ประท้วงรัฐบาลเวเนซุเอลาและนักโทษการเมืองรายอื่น ๆ พรรคฝ่ายค้านเวเนซุเอลาถือว่าชัยชนะในการเลือกตั้งของประธานาธิบดี Macri ปลุกกระแสต่อต้านแนวคิดเอียงซ้ายในลาตินอเมริกา และทำให้ระบอบ Chavism ในเวเนซุเอลาได้รับความนิยมน้อยลง

6.7 จีน ไม่ใกล้ชิดกับจีนเท่าสมัยประธานาธิบดี CFK แต่ก็ไม่ทิ้งความสัมพันธ์ที่ดีกับจีนที่รัฐบาล CFK สร้างไว้เพราะยังมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพากันอยู่มาก ประธานาธิบดี Macri พยายามจะให้คำจำกัดความกับคำว่า strategic alliance กับจีนในรูปแบบใหม่ รัฐบาลประธานาธิบดี Macri ประกาศจะทบทวนความตกลงหลายฉบับที่ลงนามในสมัยรัฐบาล CFK เพื่อให้สะท้อนผลประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริง โปร่งใส ปฏิบัติได้จริง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประธานาธิบดี Xi Jinping จะส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวจีนมาอาร์เจนตินามากขึ้นเป็น
ล้านคนต่อปีเพื่อชดเชยการขาดดุลการค้าต่อจีนของอาร์เจนตินา

6.8 ฝรั่งเศส ประธานาธิบดี Hollande เยือนอาร์เจนตินาเมื่อเดือน ก.พ. 2559 ลงนามความตกลง 20 ฉบับ กับอาร์เจนตินา และประธานาธิบดี Macri เยือนฝรั่งเศสเมื่อเดือน ก.ค. 2559 อย่างไรก็ตาม การเจรจา FTA EU-Mercosur ยังไม่ได้ข้อยุติเนื่องจาก Mercosur ต้องการจะผลักดันให้บรรจุสินค้าเกษตรใน FTA แต่กลุ่มธุรกิจเกษตรของฝรั่งเศสต่อต้าน

6.9 สหราชอาณาจักร นายกรัฐมนตรี David Cameron โทรศัพท์แสดงความยินดีในโอกาสชนะการเลือกตั้งของนาย Macri และประกาศจะสนับสนุนการทำงานของนาย Macri เพราะเห็นว่านาย Macri มีท่าที
ผ่อนคลายในประเด็นหมู่เกาะฟอล์กแลนด์
/มัลวินัส และจะหันมาส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน ประธานาธิบดีทั้งสองพบหารือกันในเวที WEF อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอาร์เจนตินาไม่สามารถออกตัวต่อสาธารณชนอาร์เจนตินาว่าจะถอยหลังเรื่องมัลวินัสเพราะประชาชนจะยอมรับไม่ได้ จึงต้องยืนยันท่าทีในเรื่องมัลวินัสต่อไป
ทำให้สหราชอาณาจักรใช้สิทธิ 
veto ในการสมัครชิงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติของนาง Susana Malcorra

6.10 เยอรมนี มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ทั้งสองประเทศตกลงจะร่วมมือกันในด้านเทคโนโลยี การค้า และการลงทุน เมื่อเดือน ก.ค. 2559 ประธานาธิบดี Macri นำคณะนักธุรกิจ 70 ราย เยือนเยอรมนีพบหารือกับบริษัทชั้นนำในเยอรมนี เช่น Mercedes-Benz, Volkswagen และ Siemens และกล่าวปาฐกา ณ German Association of Trade and Industry Chambers

6.11 รัสเซีย ความสัมพันธ์ทรงตัว แต่ไม่ใกล้ชิดเท่าสมัยรัฐบาล CFK ซึ่งในสมัยนั้นได้มีการลงนาม
ความตกลงร่วมมือก่อสร้างเขื่อน 
Chihuido เพื่อผลิตไฟฟ้าพลังน้ำกันไปแล้ว อย่างไรก็ตาม มีข่าวว่าการก่อสร้างอาจชะลอไปเนื่องจากรัฐบาล Macri ขอทบทวนรายละเอียดในความตกลงอีกครั้ง

6.12 สหรัฐฯ ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากขึ้นอย่างชัดเจนนับตั้งแต่นาย Macri เข้ารับตำแหน่ง ปัญหา vulture funds คลี่คลาย เมื่อเดือน มี.ค. 2559 ประธานาธิบดี Obama เยือนอาร์เจนตินา ทั้งสองประเทศลงนามความตกลงร่วมกันหลายฉบับ อาทิ ด้านความมั่นคง การอำนวยความสะดวกในการท่องเที่ยว การป้องกันการฟอกเงิน พลังงาน การค้า และการลงทุน นาย John Kerry รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เยือนอาร์เจนตินาเมื่อ 3 - 4 ส.ค. 2559 นักธุรกิจสหรัฐฯ ทยอยเดินทางมาอาร์เจนตินาเพื่อพิจารณาเพิ่มการค้าการลงทุนในอาร์เจนตินา สหรัฐฯ เปิดเผยเอกสารลับหลายฉบับที่เก็บบันทึกในช่วง Dirty War ซึ่งอาร์เจนตินาชื่นชมในท่าทีดังกล่าว อย่างไรก็ดี ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อเดือน พ.ย. 2559 รัฐบาลอาร์เจนตินาคาดการณ์ว่านาง Hillary Clinton จะได้รับเลือกตั้งและสนับสนุนอย่างเปิดเผย จนเมื่อนาย Donald Trump ชนะการเลือกตั้ง จึงต้องปรับเปลี่ยนท่าทียอมรับผลการเลือกตั้งและแสดงความพร้อมจะร่วมมือกับรัฐบาล Trump

 

7. บทบาทที่สำคัญในกรอบความร่วมมือในภูมิภาคและเวทีระหว่างประเทศอื่น ๆ

7.1 Mercosur รัฐบาล Macri มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้มีการปฏิรูปโครงสร้าง Mercosur ให้มีความคล่องตัวและเน้นการส่งเสริมการค้าเสรีมากขึ้น รวมทั้งผลักดันให้มีการลงนาม FTA EU-Mercosur แต่ยังไม่สำเร็จเนื่องจากยังตกลงกันไม่ได้เรื่องการบรรจุสินค้าเกษตรของ Mercosur เข้าใน FTA เพราะภาคธุรกิจดังกล่าวของฝรั่งเศสยังคัดค้าน นอกจากนี้ ประธานาธิบดี Macri ยังต้องการให้ Mercosur ใกล้ชิดกับ Pacific Alliance มากขึ้น ทันทีที่ได้รับเลือกตั้ง ประธานาธิบดี Macri เสนอให้ Mercosur ถอดถอนสมาชิกภาพเวเนซุเอลาเพราะประธานาธิบดี Maduro จับกุมคุมขังแกนนำผู้ประท้วงรัฐบาลเวเนซุเอลา ซึ่งถือเป็นการละเมิด "democratic clause" ของ Mercosur แต่ต่อมาประธานาธิบดี Macri เลิกล้มความตั้งใจ

7.2 OECD รัฐบาล Macri ตั้งเป้าจะเป็นสมาชิก OECD ให้สำเร็จ เมื่อเดือน มิ.ย. 2559 OECD ได้ส่งคณะกรรมการมาเยือนอาร์เจนตินาเพื่อประเมินความพร้อมของการเข้าเป็นสมาชิก อย่างไรก็ตาม เมื่อนาย Trump ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ กระบวนการอาจชะงักงัน เพราะประธานาธิบดี Macri เคยสนับสนุน
นาง 
Clinton อย่างเปิดเผย กอปรกับนาย Trump แสดงความไม่สนใจ OECD ซึ่งหากสหรัฐฯ ไม่ออกเสียงสนับสนุน อาร์เจนตินาก็คงไม่ได้เป็นสมาชิก

7.3 G20 ประธานาธิบดี Macri ประสบความสำเร็จในการเข้าร่วมประชุม G20 Summit ณ เมือง Hangzhou ในปี 2559 โดยได้รับคำชื่นชมในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลอาร์เจนตินาจากนานาประเทศ อาทิ ประธานาธิบดี Obama ของสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรี Mariano Rajoy ของสเปน และประธานาธิบดี Xi ของจีน นอกจากนี้ ประธานาธิบดี Macri ได้หารือทวิภาคีกับประธานาธิบดี Xi ประธานาธิบดี Vladimir Putin ของรัสเซีย นายกรัฐมนตรี Narendra Modi ของอินเดีย และนายกรัฐมนตรี Rajoy ของสเปน รวมทั้งได้พบหารือกับ
นักธุรกิจชั้นนำของจีน อาทิ นาย
 Jack Ma (Alibaba) นาย Yafang Sun (Huawei) นาย Liang Wengen (Sany Group) และนาย Ren Jianguo (Gezhouba Group) อาร์เจนตินาได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม G20 summit ในปี ค.ศ. 2018

7.4 สหประชาชาติ บทบาทที่สำคัญของอาร์เจนตินาในสหประชาชาติในปี 2559 ได้แก่ การลงสมัครชิงตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติของนาง Susana Malcorra ก่อนจะถูกสหราชอาณาจักร veto และการกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุม UNGA ของประธานาธิบดี Macri เป็นครั้งแรก โดยประธานาธิบดี Macri เสนอหาทางออกในประเด็นหมู่เกาะฟอล์กแลนด์/มัลวินัสร่วมกับสหราชอาณาจักรด้วยการเจรจาอย่างสันติ เชิญชวนนักลงทุนต่างชาติไปลงทุนในอาร์เจนตินา เร่งปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติด รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประณามการก่อการร้าย และเสนอจะรับผู้อพยพลี้ภัยมากขึ้นโดยเฉพาะครอบครัวที่มีเด็ก

7.5 Pacific Alliance ในปี 2559 อาร์เจนตินาขอสมัครเป็น permanent observer ใน Pacific Alliance และได้รับการตอบรับ ซึ่งต่อมาประธานาธิบดี Macri ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการประชุม Pacific Alliance Summit ที่ชิลี

7.6 Nuclear Security Summit ในปี 2559 ประธานาธิบดี Macri ได้เข้าร่วมประชุม Nuclear Security Summit ณ กรุงวอชิงตัน และให้คำมั่นในการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติเพื่อป้องกันการค้าวัตถุนิวเคลียร์อย่างผิดกฎหมาย รวมทั้งประชาสัมพันธ์อาร์เจนตินาว่าเป็นประเทศที่มีการวิจัยและพัฒนาการผลิตพลังงานนิวเคลียร์จากเตาปฏิกรณ์ประเภท low-enriched uranium

 

8. การประเมินความสัมพันธ์ทวิภาคีกับไทย และแนวโน้มในปี 2560

8.โดยที่รัฐบาลประธานาธิบดี Macri มีนโยบายเร่งขับเคลื่อนประเทศกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเสรีโลก พัฒนาความสัมพันธ์กับทุกประเทศ และส่งเสริมการค้าการลงทุนกับต่างชาติ ขณะนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่ไทยจะส่งเสริมความสัมพันธ์กับอาร์เจนตินาให้กลับสู่ระดับเดิมหรือใกล้ชิดมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้มิติทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ความร่วมมือทางวิชาการ และพหุภาคีเป็นตัวนำร่อง ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาล Macri ก็พร้อมที่จะตอบสนอง และก้าวข้ามค่านิยมเดิม ๆ ของประเทศ (ปกติอาร์เจนตินาต่อต้านรัฐประหารอย่างรุนแรงเพราะเคยผ่านประสบการณ์อันบอบช้ำ) รวมทั้งน่าจะพยายามมองข้ามการเมืองภายในของไทยและจับมือกันก้าวเดินไปข้างหน้าเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในมิติอื่น ๆ

8.ระหว่างเดือน ม.ค. - ต.ค. 2559 มูลค่าการค้าไทย - อาร์เจนตินาอยู่ที่ 1,314.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ร้อยละ 29.10 ไทยส่งออกไปอาร์เจนตินา 831.83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 50.37 ไทยนำเข้าจากอาร์เจนตินา 482.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.78 ไทยได้เปรียบดุลการค้า 349.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[7]

8.3 ในปี 2559 บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ได้เดินทางไปเยี่ยมชมกิจการเหมืองแร่ลิเธียมในชิลีและอาร์เจนตินา พร้อมขอรับข้อมูลเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมอาร์เจนตินาจากกระทรวงฯ และ สอท. ณ กรุงบัวโนสไอเรส เพื่อประเมินความคุ้มค่าในการพิจารณาซื้อหุ้นเพิ่มในบริษัท Lithium Americas Corp. (LAC) ที่ลงทุนในเหมืองแร่ลิเธียมในชิลีและอาร์เจนตินา

8.4 นักท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศเดินทางระหว่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี แสดงให้เห็นถึงความนิยมและการรับรู้ข้อมูลของทั้งสองประเทศมากขึ้น ประชาชนของทั้งสองประเทศเรียนรู้กันมากขึ้น โดยเฉพาะในปี 2559 จำนวนนักท่องเที่ยวอาร์เจนตินาที่เดินทางไปประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ 59.16 นับเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางไปประเทศไทยในปี 2559 การช่วยกันประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของไทยโดยภาคส่วนต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติรับรู้ โดยเฉพาะตลาดใหม่ ๆ เริ่มเห็นผลที่ดี การแข่งขันลดราคาค่าบัตรโดยสารเครื่องบินและข้อเสนอทางเลือกในบริการของสายการบินต่าง ๆ น่าจะมีผลต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวระยะไกลด้วย

 

9ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะอื่น ๆ

9.1 ในปี 2559 ภาพรวมความสัมพันธ์ไทย อาร์เจนตินามีพัฒนาการที่ดีขึ้นตามลำดับกว่าเมื่อปี 2557 - 2558 จึงควรติดตามผลักดันให้มีพลวัตรอย่างความต่อเนื่องโดยอาศัยข้อได้เปรียบของจังหวะเวลาที่รัฐบาลอาร์เจนตินาชุดนี้กำลังดำเนินนโยบายเปิดตัวต่อโลกภายนอกและในขณะที่พัฒนาการทางการเมืองของไทยกำลังดำเนินไปตาม Roadmap อย่างต่อเนื่อง

9.2 ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่ภาคส่วนต่าง ๆ ของไทย โดยเฉพาะภาคเอกชน จะพิจารณาศึกษาลู่ทางการค้าการลงทุนในอาร์เจนตินา เพราะอาร์เจนตินาภายใต้รัฐบาลชุดนี้กำลังเร่งส่งเสริมการค้าการลงทุนจากต่างชาติ หลายประเทศใหญ่ ๆ ทั่วโลกตอบสนองนโยบายนี้ของอาร์เจนตินาดังจะเห็นได้จากการนำคณะผู้นำและนักธุรกิจมาเยือนอาร์เจนตินาเพราะเล็งเห็นโอกาสในช่วงรัฐบาลอาร์เจนตินาชุดนี้ ซึ่งไทยควรศึกษาความเป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อประเมินความเสี่ยงในระยะยาวเพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจของอาร์เจนตินายังแปรปรวนง่าย และผลงานของรัฐบาลอาร์เจนตินาในรอบปีที่ผ่านมาในการแก้ไขกฎระเบียบมาตรการทางภาษีและการทำธุรกรรมยังถือว่าช้ากว่าที่ควร

 


 

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบัวโนสไอเรส

12 ธันวาคม 2559

 



[1] ในช่วงเลือกตั้งเมื่อปี 2558 ได้รวมตัวกันในนามแนวร่วม Cambiemos (Let’s Change) ประกอบด้วยพรรค Propuesta Republicana (PRO) พรรค Unión Cívica Radical (UCR) และพรรค Civic Coalition (CC)

[2] http://www.elliberal.com.ar/noticia/294317/cepal-preve-baja-18porciento-pbi-argentino-2016-suba-25-2017 / http://www.telam.com.ar/notas/201611/170044-fondo-monetario-internacional-proyecciones-argentina-actividad-economica-pbi.html

[3] http://www.lanacion.com.ar/1946465-para-la-ciudad-la-inflacion-fue-de-13-en-septiembre-y-llego-a-431-en-un-ano.

[4] กรมการท่องเที่ยว : http://tourism2.tourism.go.th/home/details/11/221/25516

[5] http://www.reuters.com/article/us-argentina-inflation-idUSKBN13R2M8

[6] Ibid.

[7] กระทรวงพาณิชย์ : http://tradereport.moc.go.th/TradeThai.aspx