ประเทศอุรุกวัย

เศรษฐกิจของประเทศอุรุกวัย

 

ภาพรวมเศรษฐกิจ

            ประเทศอุรุกวัยมีระบบเศรษฐกิจแบบเสรีที่มุ่งเน้นภาคการเกษตรเพื่อการส่งออกเป็นหลัก มีระบบแรงงานที่มีการศึกษาดี รัฐบาลมีบทบาทสำคัญ และมีค่าใช้จ่ายภาคสังคมสูง เศรษฐกิจของประเทศเฟื่องฟูอย่างมากในช่วงศตวรรษที่ 20 โดยมีอัตราการเติบโตต่อปีเกิน 5.5% ในช่วงปี ค.ศ. 2003-2013 อันเนื่องมาจากการบริโภคภาคประชาชนและการส่งออก ส่วนหนึ่งสืบเนื่องมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่แข็งแกร่ง เม็ดเงินลงทุนจากในประเทศและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศซึ่งแต่เดิมอยู่ในระดับต่ำ กลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการอัดฉีดในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการก่อสร้าง ในช่วงปี ค.ศ. 2005-2012 อุรุกวัยมีอัตราส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสูงเป็นอันดับสองในทวีปอเมริกาใต้ แม้วิกฤตการณ์ทางการเงินทั่วโลกจะชะลอการเติบโตของประเทศชั่วคราวเนื่องจากการค้าและการลงทุนจากต่างชาติลดลง แต่อุรุกวัยก็สามารถหลบเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองและสร้างอัตราการเติบโตในแดนบวกที่ระดับ 2.3% ในปี ค.ศ. 2009 ต่อเนื่องมาแตะระดับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 8.4% ในปี ค.ศ. 2010 จากนั้นชะลอตัวเล็กน้อยที่ 7.4% และ 3.7% ในปี ค.ศ. 2010 และ ค.ศ. 2011 ตามลำดับ แล้วจึงไต่ระดับกลับขึ้นมาที่ 4.4% ในปี ค.ศ. 2013 และคาดการณ์ว่าจะแตะที่ระดับ 3.0% ในปีค.ศ. 2014 ทั้งนี้ วิกฤตการณ์ทางการเงินทั่วโลกไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบการธนาคารของอุรุกวัย ซึ่งยังดำเนินการอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง ในช่วงกลางปี ค.ศ. 2012 อุรุวัยคืนบัลลังก์อันดับความน่าเชื่อถือทางการลงทุนจากสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์สและมูดี้ หลังจากที่ตกอันดับไปในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงในปี ค.ศ. 1999-2002

            บรรยากาศในการลงทุนของอุรุกวัยในภาพรวมถือว่าอยู่ในระดับดี มีการผ่านกฤษฎีกาในปี ค.ศ. 2007 และปรับแก้กฎหมายในปี ค.ศ. 2012 เพื่อเป็นแรงจูงใจที่สำคัญต่อนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ โดยนักลงทุนทั้งสองกลุ่มจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน สามารถส่งเงินทุนและผลกำไรได้อย่างเสรี และทำการลงทุนได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตล่วงหน้า นอกจากนี้ยังมีเขตการค้าเสรี 13 แห่ง โดยมี แห่งที่เน้นไปที่การบริการโดยเฉพาะ (เช่น การบริการทางการเงิน ซอฟต์แวร์ ศูนย์รับเรื่องลูกค้า และโลจิสติกส์)

            ในปี ค.ศ. 2012 อุรุกวัยได้กลายมาเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับสูงตามมาตรฐานธนาคารโลก หลังจากปรับตามความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อแล้ว ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวของอุรุกวัยมีสัดส่วนเทียบเท่าหนึ่งในสามของสหรัฐอเมริกา ตัวชี้วัดทางสังคมอยู่ในระดับสูงตามมาตรฐานลาตินอเมริกา และจากข้อมูลของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งลาตินอเมริกาและแคริบเบียน (U.N. Economic Commission for Latin America and the Caribbean) พบว่าอุรุกวัยมีระดับการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกันมากที่สุดเป็นอันดับสองในกลุ่มลาตินอเมริกา

            นอกจากนี้ อุรุกวัยยังขยายความร่วมมือทางการค้าภายในกลุ่มสมาชิก MERCOSUR และนอกกลุ่ม MERCOSUR มูลค่าการค้าขายรวมที่อุรุกวัยทำกับกลุ่ม MERCOSUR นั้นเพิ่มขึ้นเกือบ 70% หรือกว่า พันล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2006 และมูลค่าการค้าโดยรวมกับทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวโดยแตะที่ราว หมื่นล้านดอลลาร์ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อุรุกวัยได้ทยอยลดการพึ่งพาอาร์เจนตินาและบราซิลลงหลังจากที่เคยเป็นมาอย่างยาวนาน

 

ภาคการเกษตร

            ภาคการส่งออกสินค้าเกษตรที่ประสบความสำเร็จถือว่ามีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจของอุรุกวัย ซึ่งเน้นการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารจำนวนมาก ทั้งธัญพืชและพืชน้ำมัน ปัจจุบัน ภาคการเกษตรยังคงความสำคัญโดยคิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศและเป็นแหล่งนำรายได้สกุลเงินตราต่างประเทศที่สำคัญ ส่งผลให้อุรุกวัยผงาดขึ้นมามีความสำคัญในฐานะประเทศผู้ส่งออกแถวหน้าเทียบเท่าบราซิล แคนาดา และนิวซีแลนด์ และเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ (Cairns Group) ทั้งนี้ การเกษตรกรรมในอุรุกวัยยังพึ่งพาแรงงาน เทคโนโลยี และเงินทุนต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในกลุ่ม ทำให้ได้ผลผลิตต่อเฮกตาร์ต่ำกว่า แต่ก็ถือเป็นโอกาสในการทำตลาดผลิตภัณฑ์แบบ “ธรรมชาติ” หรือ “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ด้วย

            ข้อมูลจากสภาธัญพืชนานาชาติ (International Grains Council หรือ IGC) เผยว่าอุรุกวัยสามารถผลิตข้าวสาลีได้ถึง 1.3 ล้านตันในปี ค.ศ. 2012-2013 เมื่อเทียบกับ 1.6 ล้านตันในปีก่อนหน้า ส่วนผลผลิตข้าวโพดในปี ค.ศ. 2012-2013 แตะระดับ 600,000 ตัน เมื่อเทียบกับ 500,000 ตันในปีก่อนหน้า กำลังการผลิตข้าวนั้นยังคงเดิมที่ ล้านตัน และกำลังการผลิตถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นที่ 1.9 ล้านตันในปี ค.ศ. 2012-2013 เมื่อเทียบกับจำนวนเดิมที่ 1.6 ล้านตัน

 

ภาคอุตสาหกรรม

 

            แม้อุรุกวัยจะมีระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาการเกษตรและปศุสัตว์เป็นหลัก ต้องพึ่งพาสินค้านำเข้าประเภทวัตถุดิบเป็นส่วนใหญ่ และขาดทรัพยากรน้ำมัน แต่ภาคอุตสากรรมในประเทศค่อนข้างใหญ่ การแปรรูปสินค้าเกษตรและสินค้าจากสัตว์นั้นมีสัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของภาคการผลิตทั้งหมด ส่วนอุตสาหกรรมที่สำคัญประเภทอื่น ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าที่ใช้ในการผลิต อุปกรณ์การคมนาคม ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม สิ่งทอ และเคมีภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีสินแร่ต่าง ๆ อาทิ หินอ่อน หิน หินแกรนิต และบอกไซต์ อุรุกวัยมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่สำคัญริมแม่น้ำอุรุกวัยและแม่น้ำเนโกร นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว การทำประมงและป่าไม้ยังถือเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

 

การเงิน

            ระบบการธนาคารของอุรุกวัยถือว่าเป็นภาคธุรกิจการบริการส่งออกที่แข็งแกร่งที่สุดภาคหนึ่งของประเทศ ซึ่งเคยได้รับสมญานามว่าเป็น “สวิตเซอร์แลนด์ของทวีปอเมริกา” เนื่องมาจากระบบการธนาคารและเสถียรภาพของประเทศ ธนาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือ Banco República ซึ่งเป็นกิจการของรัฐ และธนาคารของรัฐที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งก็คือ BHU นอกจากนี้ยังมีธนาคารเอกชนอีกเกือบ 20 แห่ง โดยมากเป็นสาขาของธนาคารต่างชาติที่ดำเนินกิจการในประเทศ (เช่น Banco Santander, ABN AMRO, Citibank เป็นต้น) รวมไปถึงบริษัทหลักทรัพย์และสำนักงานที่ให้บริการทางการเงินอื่นๆ อีกหลายแห่ง เช่น Ficus Capital, Galfin Sociedad de Bolsa, Europa Sociedad de Bolsa, Darío Cukier, GBU, Hordeñana & Asociados Sociedad de Bolsa เป็นต้น ทั้งนี้ อุรุกวัยได้ฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์ทางการเงินที่ส่งผลให้ธนาคารในประเทศชะงักไป

 

การท่องเที่ยว

            การท่องเที่ยวมีความสำคัญคิดเป็นสัดส่วน 6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ โดยมีแหล่งธรรมชาติที่น่าสนใจ เหมาะแก่การท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบ โดยแหล่งท่องเที่ยวทั้งหมดตั้งอยู่ไม่ไกลจากกันมากนัก ไม่ว่าจะเป็นชายหาดที่โด่งดังริมชายฝั่งทะเลตะวันออก การท่องเที่ยวแถบชนบทในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ บ่อน้ำพุร้อนริมชายฝั่งทะเลตะวันตก และการท่องเที่ยวในเมืองต่างๆ เช่น มอนติวิดีโอและโคโลเนีย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีบริการล่องเรือสำราญข้ามประเทศที่มอนติวิดีโอในช่วงเดือนตุลาคมถึงมีนาคมทุกปี ตลอดจนการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติตลอดปี (การเจรจารอบอุรุกวัยในการประชุมการค้าของแกตต์ (GATT) นั้นจัดขึ้นโดยมีอุรุกวัยเป็นเจ้าภาพดังชื่อการประชุม) มอนติวิดีโอเป็นที่ตั้งของ MERCOSUR สำนักงานใหญ่ (สำนักเลขาธิการ) ซึ่งเป็นตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง (Common Market of the South) ที่มีสมาชิกเต็มตัวอย่างอุรุกวัย อาร์เจนตินา บราซิล ปารากวัย และเวเนซุเอลา รวมทั้งสมาชิกสมทบอย่างโบลิเวีย ชิลี โคลอมเบีย เอกวาดอร์ และเปรู

 

การค้า

            ดุลการชำระเงินของอุรุกวัยโดยทั่วไปอยู่ในช่วงขาดดุล (ขาดดุลการค้า) มาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 รัฐบาลได้ยกเลิกการจำกัดการนำเข้าหลายประการมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 โดยสินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าจากเนื้อสัตว์ (โดยมากเป็นเนื้อวัวแช่แข็ง) และสัตว์มีชีวิต ผลิตภัณฑ์อาหาร ขนสัตว์และสิ่งทออื่น ๆ รวมทั้งหนังสัตว์ ในขณะที่สินค้านำเข้าที่สำคัญได้แก่เครื่องจักร อุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์การคมนาคม และอาหารแปรรูป นอกเหนือจากบราซิลที่เป็นคู่ค้าหลักของอุรุกวัยแล้ว ยังมีคู่ค้าที่สำคัญอย่างอาร์เจนตินาและสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

 

การลงทุนจากต่างประเทศ

            ทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ทั้งผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่สมเหตุสมผล และระบบการเงินที่มั่นคงของอุรุกวัยเป็นข้อได้เปรียบที่ส่งให้การลงทุนในประเทศนี้น่าสนใจและมีความปลอดภัย รัฐบาลอุรุกวัยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการลงทุนจากต่างประเทศที่มีต่อการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจ และได้ใช้มาตรการรักษาบรรยากาศที่เหมาะแก่การลงทุน

            กฎหมายมาตรา 16,906 (นำมาใช้ในปี ค.ศ. 1998) ได้ประกาศการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนจากนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ โดยระบุว่า (1) นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน (2) สามารถลงทุนได้โดยไม่ต้องขออนุญาตหรือจดทะเบียนล่วงหน้า (3) รัฐบาลจะไม่ขัดขวางการประกอบการลงทุนในประเทศ และ (4) นักลงทุนสามารถโอนเงินทุนและผลกำไรที่ได้จากการลงทุนไปยังต่างประเทศโดยอิสระ

            ดัชนี “การประกอบธุรกิจ” ที่จัดทำโดยธนาคารโลกในปี ค.ศ. 2013 ได้จัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจจากทั้งหมด 185 ประเทศ โดยอุรุกวัยอยู่ในอันดับที่ 89 จากทั่วโลกและอันดับที่ 14 ภายในกลุ่มลาตินอเมริกาและแคริบเบียน (จาก 33 ประเทศ) พร้อมทั้งได้รับคะแนนสูงในหมวดหมู่ “การขอใช้ไฟฟ้า” และ “การแก้ปัญหาลัมละลาย” แต่ยังด้อยในหมวด “การชำระภาษี” “การขออนุญาตก่อสร้าง” และ “การจดทะเบียนทรัพย์สิน”

            ในแง่ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index) อุรุกวัยสามารถไต่ระดับขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง จากอันดับที่ 35 ในปี ค.ศ. 2001 ขึ้นมาแตะที่อันดับ 20 ในอีกสิบปีต่อมา และได้รับการจัดอันดับว่าเป็น “เศรษฐกิจที่มีเสรีภาพอยู่ในระดับพอประมาณ” ตามดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจจากมูลนิธิ Heritage Foundation