ลู่ทางการส่งออก

1. ปัญหาและข้อเสนอแนะในการเข้าสู่ตลาด

ปัญหาและอุปสรรคทางการค้า

-       ไทยและอาร์เจนตินามีผลผลิตทางการเกษตรคล้ายคลึงกัน และด้วยนโยบายปกป้องตลาด อาร์เจนตินาจึงเน้นการส่งออกมากกว่าการนำเข้า 

-       ระยะทางที่ห่างไกล และการขนส่งต้องผ่านประเทศที่สาม ทำให้ค่าใช้จ่ายสูง

-       การใช้ภาษาสเปนเป็นอุปสรรคในการติดต่อของไทย

-       เศรษฐกิจอาร์เจนตินาขาดเสถียรภาพ 

-       นอกจากนี้ อาร์เจนตินายังมีปัญหาเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจด้วย   

ข้อเสนอแนะในการเข้าสู่ตลาด

-       การสร้างความร่วมมือในด้านการผลิตและการลงทุนร่วมกัน (Joint Venture) ยังมีศักยภาพอีกมาก เช่น ในธุรกิจด้านการผลิตสินค้าเครื่องอุปโภคสำเร็จรูปและวัสดุกึ่งสำเร็จรูป ธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหาร และอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์ 

-       การแสวงหาลู่ทางในการทำการค้าแบบ Account Trade

                                                                      -       การจัดคณะผู้แทนการค้าทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเดินทางไปเยือนอาร์เจนตินา  โดยเฉพาะในเมืองสำคัญ เช่น กรุงบัวโนสไอเรส เพื่อการสร้างความสัมพันธ์ทางการค้า ทั้งในระดับ นโยบายและระดับปฏิบัติงานและสร้างกรอบความร่วมมือระหว่างกัน

 

2. รสนิยมความต้องการของตลาด พฤติกรรมของผู้บริโภค

การเข้าสู่ตลาดในทวีปอเมริกาใต้ ผู้ส่งออกไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้จักตลาดเป็นอย่างดี รวมทั้งตัวสินค้าและเงื่อนไขทางการค้าที่แตกต่างออกไปจากประเทศอื่นๆ อาร์เจนตินามีระบบการค้า และการจัดจำหน่ายสินค้าที่แตกต่างกันออกไป ตลอดจนระบบภาษีที่แตกต่างกัน ลักษณะการบริโภค การบรรจุหีบห่อ การซื้อขาย และรูปแบบสินค้าก็แตกต่างกันออกไป ดังนั้น ผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยจึงควรต้องหาข้อมูลทางการค้าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ตั้งอยู่ในประเทศนั้นให้มากที่สุด นอกจากนี้แล้ว ผู้ส่งออกไทยก็ควรจะต้องเดินทางไปสำรวจและศึกษาตลาดหรือเสาะแสวงหาลูกค้ารายใหม่ ๆ ในประเทศดังกล่าวด้วย  อันจะเป็นการสร้างฐานและความสัมพันธ์ทางการค้าให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง รวมทั้งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระหว่างกันด้วย พฤติกรรมและรสนิมในการบริโภคจะแตกต่างกันตามฐานะของผู้บริโภคที่มีช่องว่างทางรายได้ค่อนข้างห่างกันมาก ผู้มีรายได้ต่ำยังจำเป็นต้องใช้สินค้าอุปโภคบริโภคในระดับ Low end เช่น เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องใช้อื่นๆ ที่ราคาถูกจากจีน ในขณะที่ผู้มีรายได้สูงนิยมบริโภคสินค้าคุณภาพสูงจากสหรัฐอเมริกาและยุโรป ในขณะที่ชนชั้นกลางนิยมบริโภคสินค้าที่ผลิตจากภูมิภาคเอเซียและกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคลาตินอเมริกา ซึ่งสินค้าสำเร็จรูปจากไทยน่าจะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เป็นชนชั้นกลางได้บางส่วน ส่วนการส่งออกสินค้าวัสดุกึ่งสำเร็จรูป จะต้องวางแผนกลยุทธ์โดยศึกษาติดตามความเคลื่อนไหวของโครงสร้างของภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม เหมืองแร่ และการประมงของอาร์เจนตินาอย่างใกล้ชิด

 

3. ช่องทางการจัดจำหน่าย เทคนิคการกระจายการค้า

การจัดจำหน่ายสินค้าคงคล้ายกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค กล่าวคือ ผู้ค้าส่ง(Wholesaler) จำหน่ายสินค้าให้ผู้ค้าปลีก (Retailer) ที่ไปสั่งซื้อสินค้าเข้าร้าน โดยยอดการสั่งซื้อมีจำนวนไม่มากนัก การกระจายสินค้าจากคนกลางในประเทศที่เป็นประตูการค้าโดยผู้ค้าส่งต่างๆ น่าจะมีโอกาสทางด้านการค้า และในการกระจายสินค้าตามช่องทางการจัดจำหน่ายของท้องถิ่นโดยการออกงานแสดงสินค้าในอาร์เจนตินาน่าจะต้องมีตัวแทนขายไปออกงานร่วมด้วย

 

4. จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส อุปสรรค

จุดแข็ง

จุดแข็งของตลาดนี้ คือ

-       ต้องการนำเข้าสินค้าที่เป็นวัสดุหรือชิ้นส่วนประกอบในการผลิตทางอุตสาหกรรมจากไทย ได้แก่ ยางพารา ส่วนประกอบเครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์ยาง อุปกรณ์และส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ หลอดภาพโทรทัศน์สี และเม็ดพลาสติก เป็นต้น เนื่องจากสินค้าเหล่านี้จากไทยมีคุณภาพดี ได้มาตรฐานสากล แต่ยังมีราคาที่สามารถแข่งขันในตลาดได้

-       ต้องการนำเข้าสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคชนิดที่ไม่สามารถผลิตได้เองหรือผลิตได้แต่ยังมีปริมาณไม่เพียงพอหรือมีคุณภาพไม่ดีพอ หรือสินค้าที่ผลิตได้ภายในประเทศและสินค้าที่นำเข้าไม่สามารถแข่งขันเอาชนะสินค้าไทยได้ในเรื่องราคาและคุณภาพ เช่น อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ ผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้าและชิ้นส่วน เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น    

จุดอ่อน

          จุดอ่อนของตลาดได้แก่ ปัญหาและอุปสรรคทางการค้าตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

โอกาส

-       สินค้าไทยมีโอกาสเจาะตลาดระดับกลางและล่าง เพื่อส่งออกสินค้าที่มีคุณภาพดี ราคาปานกลาง

-       ไทยยังมีโอกาสส่งออกสินค้าที่ตลาดต้องการแต่ยังผลิตได้ไม่เพียงพอต่อการใช้ภายในตลาดหรือยังไม่มีการผลิตในประเทศ

อุปสรรค

          ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นในเรื่องปัญหา

 

5. กลยุทธ์ทางการค้า

          -ลักษณะสินค้าและบริการ

ต้องเป็นสินค้าและบริการที่ตลาดมีความต้องการนำเข้า คือ สินค้านำเข้าสำคัญลำดับแรกๆ ได้แก่ ยางพารา ส่วนประกอบเครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ ผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ รองเท้าและชิ้นส่วน เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ หลอดภาพโทรทัศน์สี และเม็ดพลาสติก เป็นต้น  

          -ราคา

ควรเป็นราคาที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดนำเข้าของอาร์เจนตินา

          -การจัดจำหน่าย และการกระจายสินค้า

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นในข้อ 4.3 และนอกจากนี้ ระบบ E-commerce จะเป็นวิธีการจัดจำหน่ายอีกรูปแบบหนึ่งที่จะสามารถสนับสนุนการค้าระหว่างไทยกับอาร์เจนตินาให้กว้างขวางและแพร่หลายมากขึ้น

          -การโฆษณาประชาสัมพันธ์

การเข้าร่วมงานแสดงสินค้ายังเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง อันจะเป็นการสร้างภาพพจน์สินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการจัด Solo Show, Joint Promotion, In-store Promotion หรือ Information Stand เพื่อให้ผู้ส่งออกไทยได้มีโอกาสรู้จักผู้นำเข้าและสร้างความคุ้นเคยซึ่งกันและกัน อันจะเอื้อประโยชน์แก่การค้า

-การค้าแบบหักบัญชี

มีความเป็นไปได้ในการทำการค้าแบบหักบัญชีระหว่างกัน เนื่องจากไทยก็เป็นลูกค้าประจำของอาร์เจนตินา สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของอาร์เจนตินาบางรายการ เช่น หนังดิบและหนังฟอก กากพืชน้ำมัน เมล็ดพืชน้ำมัน หลอดและท่อโลหะ สินแร่โลหะและเศษโลหะ อาหารสัตว์ และแร่ดิบ การซื้อสินค้าเหล่านี้จากอาร์เจนตินาบางส่วนจึงอาจเสนอการค้าแบบหักบัญชีกับสินค้าหลักที่อาร์เจนตินานำเข้าจากไทย เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูป ยางพารา เม็ดพลาสติก เป็นต้น

 ข้อมูลโดย                                                                                           

       - ส่วนตลาดลาตินอเมริกา สำนักพัฒนาตลาดต่างประเทศ กรมส่งเสริมการส่งออก   31 กรกฎาคม 2545

                   - สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบัวโนสไอเรส  4 ธันวาคม 2557