ระบบโลจิสติกส์

อาร์เจนตินาเป็นประเทศเกษตรกรรม รายได้ส่วนใหญ่ของประเทศมาจากการส่งออกสินค้าเกษตร ในอดีต รัฐบาลเน้นที่การพัฒนาระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ในบริเวณ Pampas หรือตอนเหนือของจังหวัดบัวโนสไอเรส และบริเวณริมแม่น้ำ Paraná (ระหว่างจังหวัด Santa Fe และ Entre Ríos) เป็นหลัก ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่เพาะปลูกที่สำคัญที่สุดของประเทศ มีปริมาณการผลิตธัญพืชมากถึงร้อยละ 70 ของผลผลิตทั้งหมด อีกทั้ง ร้อยละ 80 ของสินค้าที่ส่งออกไปต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกผ่านทางแม่น้ำและทะเล ดังนั้น การก่อสร้างและพัฒนาเครือข่ายถนนจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นช่องทางในการขนส่งผลผลิตจากแหล่งเกษตรกรรมไปสู่ท่าเรือ เพื่อส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ

ในขณะเดียวกัน นิคมอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ระหว่างกรุงบัวโนสไอเรสกับตอนเหนือของจังหวัดบัวโนสไอเรส (เขต Zarate) และทางตอนล่างของจังหวัด Entre Rios ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีการพัฒนาเครือข่ายถนนอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน                           
 
เครือข่ายถนน
ร้อยละ 80 ของการขนส่งภายในประเทศเป็นการขนส่งโดยรถบรรทุก ในขณะที่ การขนส่งโดยรถไฟและเรือบรรทุกสินค้ายังมีจำนวนจำกัดเครือข่ายถนนภายในประเทศมีความยาวรวมกันมากถึง 235,000 ก.ม. ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ โดยเชื่อมต่อเมืองและพื้นที่เพาะปลูกที่สำคัญกับท่าเรือต่างๆ โดยที่ร้อยละ 80 ของการขนส่งภายใน ประเทศเป็นการขนส่งโดยรถบรรทุกเป็นหลัก ดังนั้น ร้อยละ 90 ของถนนทั้งหมดเป็นถนนคอนกรีต ในขณะเดียวกัน ยังมีทางหลวง (Highways) ที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองสำคัญต่างๆ ภายในประเทศ มีความยาวรวมกันประมาณ 1,000 ก.ม. 

 

 
นอกจากนี้ อาร์เจนตินายังมีเส้นทางเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านในบริเวณชายแดน (Boarder Connection Points) อีก 31 จุด ซึ่งมีเส้นทางเชื่อมต่อที่สำคัญ ดังนี้
อาร์เจนตินา-โบลิเวีย
- ระหว่าง La Quiaca กับ Villazón
- ระหว่าง Aguas Blancas กับ Bermejo
- ระหว่าง Pocitos กับ Yacuiba                                
อาร์เจนตินา - บราซิล
- ระหว่าง Puerto Iguazú กับ Foz do Iguaçu      
- ระหว่าง Paso de los Libres กับ Uruguaiana
- ระหว่าง Santo Tomé กับ São Borja
อาร์เจนตินา – ชิลี
- ระหว่าง Salta กับ San Pedro de Atacama
- ระหว่าง Mendoza กับกรุงซันติอาโก
- ระหว่าง Bariloche กับ Puerto Montt
- ระหว่าง Los Antiguos กับ Chile Chico
- ระหว่าง El Calafate กับ Puerto Natales และ Parque Nacional Torres del Paine
- ระหว่าง Ushuaia กับ Punta Arenas
(โดยที่เส้นทางเชื่อมต่อระหว่างอาร์เจนตินา-ชิลีจะต้องข้ามเทือกเขาแอนดีสเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะไม่สามารถใช้งานได้ในช่วงฤดูหนาว ดังนั้น รัฐบาลของทั้งสองประเทศมีแผนการที่จะสร้างอุโมงค์ (Túnel de Baja Altura) ระหว่างจังหวัด Mendoza กับกรุงซันดิอาโก มีความยาวประมาณ 52 ก.ม. เพื่อใช้เป็นช่องทางในการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะ)
อาร์เจนตินา-ปารากวัย
- ระหว่าง Clorinda กับกรุงอะซุนซิออง  
- ระหว่าง Posadasกับ Encarnación
อาร์เจนตินา-อุรุกวัย
- ระหว่าง Gualeguaychú กับ Fray Bentos
- ระหว่าง Colón กับ Paysandú
- ระหว่าง Concordia กับ Salto
 
ท่าเรือที่สำคัญ
อาร์เจนตินามีชายฝั่งทะเลยาวถึง 4,725 ก.ม. และมีแม่น้ำหลายสายที่มีความสำคัญกับทั้งการค้าภายในประเทศและ ตปท. ปัจจุบัน อาร์เจนตินามีท่าเรืออยู่ทั้งสิ้น 33 แห่งทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในบริเวณ Pampas และทางตอนเหนือของแม่น้ำ Paraná ซึ่งครอบคลุมจังหวัดบัวโนสไอเรส Santa Fe และ Entre Ríos โดยมีท่าเรือที่สำคัญอยู่ 4 แห่ง ได้แก่ 1) ท่าเรือบัวโนสไอเรส 2) ท่าเรือ Rosario 3) ท่าเรือ Bahía Blanca และ 4) ท่าเรือ Quequén มากกว่าร้อยละ 50 ของสินค้าส่งออกไป ตปท. ทั้งหมดจะใช้ท่าเรือทั้งสี่ดังกล่าว นอกจากนี้ ทางตอนใต้ของประเทศ ในบริเวณ Patagonia ยังมีท่าเรือที่สำคัญอีก 4 แห่ง ได้แก่ 1) ท่าเรือ Rio Negro 2) ท่าเรือ Chubut 3) ท่าเรือ Santa Cruz และ 4) ท่าเรือ Tierra del Fuego ซึ่งมีความสำคัญต่อการค้าภายในประเทศมากกว่าการส่งออก
 
 
ท่าเรือบัวโนสไอเรสเป็นท่าเรือที่มีความสำคัญมากที่สุดของอาร์เจนตินา ใช้สำหรับการส่งออกและนำเข้าผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (manufactured goods) สร้างขึ้นเมื่อช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และตั้งอยู่ทางบริเวณทิศตะวันออกของกรุงบัวโนสไอเรส เมื่อปี ค.ศ. 2010 มีปริมาณการส่งออกและนำเข้าสินค้ามากถึง 11.7 ล้านตัน มีระบบเครือข่ายถนนและเส้นทางรถไฟ 5 สาย เชื่อมต่อกับท่าเรือดังกล่าว ดังนั้น ท่าเรือบัวโนสไอเรสเปรียมเสมือนเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้านำเข้าไปสู่จังหวัดอื่นๆ ล่าสุด เมื่อปี ค.ศ. 2000 รัฐบาลได้ปรับปรุงท่าเรือบัวโนสไอเรสเพื่อให้สามารถรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (cruise ship) ปัจจุบัน สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 80,000 คนต่อปี สามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.puertobuenosaires.gov.ar
 
ท่าเรือที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับการส่งออกสินค้าเกษตร คือ ท่าเรือ Rosario และท่าเรือ San Martín/San Lorenzo ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัด Santa Fe มีการส่งออกธัญพืชจากท่าเรือดังกล่าวรวมกันประมาณ 70 ล้านตันต่อปี หรือประมาณร้อยละ 70 ของการส่งออกธัญพืชทั้งหมด อีกทั้ง น้ำมันพืชที่ผลิตเกือบทั้งหมดส่งออกไปต่างประเทศ โดยผ่านทางท่าเรือทั้งสามดังกล่าว ท่าเรือ Rosario และท่าเรือ San Martín/San Lorenzo ตั้งอยู่บนแม่ Parana ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของประเทศที่เชื่อมโยงกับแม่น้ำ La Plata และมหาสมุทรแอตแลนติก
 
ท่าเรือที่มีความสำคัญรองลงมา สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตร คือ ท่าเรือ Bahía Blanca และ Quequén ซึ่งท่าเรือดังกล่าวทั้งสองตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดบัวโนสไอเรส นอกเหนือจากสินค้าเกษตรแล้ว ท่าเรือ Bahía Blanca และ Quequén ยังมีความสำคัญสำหรับการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศด้วย
 
โดยที่แม่น้ำ Paraná เป็นเส้นทางขนส่งทางน้ำหลักของตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่างหรือ MERCOSUR ซึ่งไหลผ่านจากบราซิล ปารากวัย ลงมายังอาร์เจนตินาและอุรุกวัย เส้นทางยาวประมาณ 4,880 ก.ม. เป็นแม่น้ำที่มีความยาวเป็นอันดับที่ 2 ของอเมริกาใต้ รองจากแม่น้ำอะเมซอน แม่น้ำตลอดสายสามารถใช้เป็นเส้นทางในการขนส่งและมีท่าเรือน้ำลึกสำคัญต่างฯ ตั้งอยู่ ซึ่งเชื่อมโยงสู่ปากแม่น้ำ La Plata และมหาสมุทรแอตแลนติก รัฐบาลเวเนซุเอลาประสงค์จะใช้แม่น้ำดังกล่าวเป็นช่องทางในการขนส่งน้ำมันและลำเลียงสินค้า อาทิ แร่เหล็กจากโบลิเวียและถั่วเหลืองจากปารากวัยไปเวเนซุเอลา เมื่อเดือน มี.ค. 2554 ประธานธิบดี Hugo Chávez ได้ลงนามในสัญญาสั่งซื้อเรือขนส่ง (tanker barges) จากอู่ต่อเรือ Tandanor  ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงกลาโหมอาร์เจนตินา จำนวน 16 ลำ มูลค่าประมาณ 83 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการขนส่งสินค้าบนแม่น้ำ Paraná โดยเฉพาะ
 
ท่าอากาศยาน
อาร์เจนตินามีท่าอากาศยานอยู่ 53 แห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วย ท่าอากาศยานภายในประเทศ จำนวน 32 แห่ง และท่าอากาศยาน รปท. อีก 21 แห่ง ทั้งนี้ ร้อยละ 85 ของเที่ยวบิน รปท. ส่วนใหญ่ใช้ท่าอากาศยานนานาชาติ Ministro Pistarini หรือ Ezeiza ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากกรุงบัวโนสไอเรสประมาณ 22 ก.ม. เป็นสนามบินเดียวที่มีบริการเที่ยวบิน intercontinental flights เดินทางไป 50 ประเทศทั่วโลก และ 5 จังหวัดภายในประเทศ โดยมีนักท่องเที่ยวใช้บริการประมาณ 8 ล้านคนต่อปี ในขณะเดียวกัน ร้อยละ90 ของการขนส่งสินค้าทางอากาศไป ตปท. ก็ใช้ท่าอากาศยานนานาชาติ Ezeiza เป็นหลักเช่นกัน โดยเฉลี่ยมีปริมาณสินค้าส่งออกและนำเข้าผ่านทางท่าอากาศยานดังกล่าวประมาณ 200,000 ตันต่อปี ซึ่งสายการบิน Lufthansa, Qantas และ Qatar (Crossracer) ที่ให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศไปภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับท่าอากาศยานระหว่างประเทศที่เหลืออีก 20 แห่ง มีสายการบินแห่งชาติ Aerolineas และสายการบินของประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สายการบิน LAN และ TAM บริการเที่ยวบินเดินทางไปบราซิล ชิลี อุรุกวัย และปารากวัย
 
 
ท่าอากาศยานที่มีความสำคัญอีกแห่งหนึ่ง คือ ท่าอากาศยาน Jorge Newberry ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงบัวโนสไอเรส นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เลือกใช้ท่าอากาศดังกล่าวสำหรับการเดินทางภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศ ได้แก่ บราซิล ชิลี อุรุกวัย และปารากวัย สามารถค้นหาเที่ยวบินต่างๆ ที่ให้บริการภายในอาร์เจนตินาได้ที่ www.aa2000.com.ar/aeropuertos.aspx
 
ท่าอากาศยาน จำนวน 38 แห่ง ซึ่งรวมถึงท่าอากาศยานนานาชาติ Ezeiza และ Jorge Newberry บริหารจัดการโดยบริษัท Aeropuertos Argentina 2000 ซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐบาลมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 ในสมัยประธานาธิบดี Carlos Menem ในขณะที่ ท่าอากาศยานที่เหลืออีก 15 แห่ง รัฐบาลเป็นผู้บริหารโดยมีกระทรวงวางแผนและการลงทุนเป็นผู้ดูแล
 
เส้นทางรถไฟ
อาร์เจนตินาได้เริ่มก่อสร้างเส้นทางรถไฟตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 โดยมีความยาวรวมกันประมาณ 35,753 ก.ม. เชื่อมต่ออาร์เจนตินากับประเทศสมาชิก MERCOSUR อื่นๆ รวมถึงชิลีและโบลิเวีย อย่างไรก็ดี เครือข่ายเส้นทางรถไฟภายในประเทศส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในบริเวณ Pampas หรือตอนเหนือของจังหวัดบัวโนสไอเรส และบริเวณริมแม่น้ำ Paraná เนื่องจากรัฐบาลมีวัตถุประสงค์ที่จะใช้เส้นทางรถไฟสำหรับการขนส่งผลิตผลทางการเกษตรเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ทางตอนใต้ของประเทศในบริเวณ Patagonia จึงยังไม่มีเส้นทางรถไฟเลย 
 
โดยที่เส้นทางรถไฟส่วนใหญ่มีการใช้งานมานานและขาดการดูแลซ่อมแซม ปัจจุบัน เส้นทางรถไฟส่วนใหญ่ได้หยุดการใช้งาน โดยเฉพาะที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ดี ในโอกาสครบรอบ 200 ปีของการประกาศเอกราชจากสเปน รัฐบาลอาร์เจนตินาและอุรุกวัยได้เริ่มใช้เส้นทางรถไฟที่เชื่อมต่อระหว่างเมือง Concordia จังหวัด Entre Ríos ของอาร์เจนตินากับเมือง Salto จังหวัด Salto ของอุรุกวัยอีกครั้ง เมื่อเดือน ส.ค. ค.ศ. 2011 ซึ่งเส้นทางรถไฟดังกล่าวใช้สำหรับการขนส่งผู้โดยสารเท่านั้น
 
นอกจากนี้ รัฐบาลอาร์เจนตินาได้ลงนามความตกลงกับรัฐบาลจีนในระหว่างที่ประธานาธิบดีอาร์เจนตินาเดินทางเยือนจีนเมื่อเดือน ก.ค. ค.ศ. 2010 เพื่อกู้เงินจำนวนประมาณ 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับก่อสร้างและพัฒนาเส้นทางรถไฟภายใต้โครงการ Belgrano Cargas ซึ่งจะมีความยาวถึง 10,841 ก.ม. โดยจะตัดผ่านจังหวัด Buenos Aires, Santa Fe, Córdoba, Mendoza, Santiago del Estero, San Juan, Catamarca, La Rioja, Tucumán, Chaco, Formosa, Salta และ Jujuy ทั้งสองฝ่ายกำลังเจรจาขั้นตอนในการโอนเงินบางส่วนอยู่ในขณะนี้