ภาพรวมเศรษฐกิจอาร์เจนตินา


 

อาร์เจนตินามีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสามในภูมิภาคลาตินอเมริกา ในปี 2556 มีผลิตภัณฑ์มวลรวม 475 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ FTSE Global Equity Index จัดให้อาร์เจนตินาอยู่ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) นอกจากนี้ อาร์เจนตินายังเป็นประเทศในกลุ่ม G-20 Major Economies ด้วย

อาร์เจนตินามีแนวนโยบายเศรษฐกิจแบบปกป้องตลาดภายในประเทศ (protectionism) ซึ่งมีส่วนคล้ายคลึงกับแนวทางของบราซิลและเวเนซุเอลา แตกต่างจากแนวทางของเม็กซิโก ชิลี โคลอมเบีย และเปรู ที่รวมตัวกันเป็นรูปแบบเศรษฐกิจของประเทศทางฝั่งตะวันตกของภูมิภาคลาตินอเมริกา (Pacific Alliance) ที่เน้นการเปิดตลาดการค้าเสรีและการรวมตัวทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา รัฐบาลประธานาธิบดี Cristina Fernández de Kirchner มีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับการให้สวัสดิการทางสังคมและการหลอมรวมทางสังคม (social inclusion) โดยเน้นการอุดหนุนค่าสาธารณูโภคต่าง ๆ การให้เงินบำนาญที่สูงแก่ผู้เกษียณอายุ การเลี้ยงดูคนตกงาน การอุดหนุนภาคการศึกษา การกระตุ้นอุตสาหกรรมและการบริโภคภายในประเทศ การควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน และควบคุมการไหลออกของเงินดอลลาร์สหรัฐโดยออกมาตรการที่เข้มงวดในการทำธุรกรรม การนำเงินดอลลาร์สหรัฐที่ได้จากการลงทุนของต่างชาติออกนอกประเทศ และการที่ชาวอาร์เจนตินาจะนำเงินดอลลาร์สหรัฐออกไปใช้จ่ายนอกประเทศ

อาร์เจนตินามีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ประชากรมีการศึกษาค่อนข้างดี เป็นประเทศที่เน้นการส่งออกสินค้าเกษตร มีอุตสาหกรรมที่หลากหลาย แม้เศรษฐกิจของอาร์เจนตินาจะมีรากฐานมาจากภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก แต่ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการได้มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ

การทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะวัวและแกะ และการปลูกธัญพืช สร้างรายได้หลักให้ประเทศ เนื้อวัวของอาร์เจนตินามีคุณภาพดีและมีชื่อเสียงลำดับต้น ๆ ของโลกเนื่องจากอาร์เจนตินามีพื้นที่กว้างใหญ่ ซึ่งรวมถึงทุ่งหญ้า Pampas ขนาดใหญ่ทางตอนกลางของประเทศที่เหมาะแก่การเลี้ยงสัตว์และเพาะปลูก มีลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศที่หลากหลาย โดยเฉพาะมีเขตพื้นที่ที่อากาศพอเหมาะและฝนตกตามฤดูกาล

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สินค้าอุปโภคบริโภคที่อาร์เจนตินาส่งออกมากได้แก่ ข้าวสาลี ถั่วเหลือง น้ำมันดิบ น้ำมันเบนซิน และเนื้อสัตว์ ส่วนในภาคอุตสาหกรรมการผลิต สินค้าหลักที่ส่งออกได้แก่ อาหารแปรรูป โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ แป้งสาลี และอาหารกระป๋อง นอกจากนี้ ยังส่งออกรถยนต์ เสื้อผ้า เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมีภัณฑ์ ปูนซีเมนต์ โลหะ เหล็กกล้า ไวน์ เบียร์ ยาสูบ ไม้ และกระดาษ

สินค้าหลักที่นำเข้าได้แก่ เครื่องจักรกล รถยนต์ เคมีภัณฑ์ โลหะ พลาสติก และเครื่องใช้ไฟฟ้า คู่ค้าหลักได้แก่ บราซิล สหรัฐอเมริกา จีน และชิลี

ในช่วงยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ หรือเมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว อาร์เจนตินาเคยเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก แต่ในช่วงศตวรรษที่ 20 วิกฤตเศรษฐกิจได้ทำให้เกิดอัตราเงินเฟ้อที่สูง ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และมีหนี้สินระหว่างประเทศสูง

อาร์เจนตินาประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงที่สุดเมื่อปี 2544 หลังจากเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี สาเหตุสำคัญมาจากภาวะชะงักงันของเงินลงทุนจากต่างประเทศ การขาดดุลการคลัง และดุลการค้า และความพยายามของรัฐบาลที่จะรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐไว้ที่ระดับ 1 เปโซ ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนั้นเศรษฐกิจของอาร์เจนตินายังได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหา รวมทั้งการระงับการจ่ายหนี้สินต่างประเทศ และการลดค่าเงินเปโซ

เศรษฐกิจของอาร์เจนตินาเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ปลายปี 2545 โดยมีการขยายตัวของการส่งออกและการกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศเป็นปัจจัยสำคัญ ทั้งนี้ การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกนับตั้งแต่ปี 2546 เป็นผลจากการลดค่าเงินเปโซ ซึ่งทำให้อาร์เจนตินาได้เปรียบดุลการค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการที่รัฐบาลอาร์เจนตินาสามารถผลักดันนโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งนำไปสู่การลดลงของอัตราการว่างงาน และการเพิ่มขึ้นของความต้องการสินค้าภายในประเทศ รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมก็มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันยังถือได้ว่าเศรษฐกิจของอาร์เจนตินายังมีความเปราะบางและยังไม่มีเสถียรภาพเท่าที่ควร ในปี 2556 อาร์เจนตินาประสบปัญหาอัตราเงินเฟ้อสูงอย่างต่อเนื่อง เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของอาร์เจนตินาลดต่ำลงมาก และเมื่อเดือนมกราคม 2557 ค่าเงินเปโซได้อ่อนลงอย่างมากจนอัตราแลกเปลี่ยนตกลงมาอยู่ที่ 13 เปโซ ต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ นับว่าต่ำที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินเมื่อปี 2545

ในช่วงต้นปี 2557 รัฐบาลได้ออกมาตรการทางการเงินเพื่อรับมือกับค่าเงินเปโซที่อ่อนค่าลงอย่างมาก โดยผ่อนปรนให้การซื้อและถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อการออมทำได้ง่ายขึ้นเพื่อลดความต้องการดอลลาร์สหรัฐจากตลาดมืด (blue market) และเพื่อให้ความแตกต่างระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนทางการ (official rate) กับอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืด (blue rate) ขยับเข้ามาใกล้กันมากขึ้น และธนาคารกลางได้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเพื่อดึงดูดผู้ออมเงินหรือนักลงทุนให้หันมาลงทุนในเงินเปโซแทนที่จะลงทุนในเงินดอลลาร์เพื่อป้องกันปัญหาเงินเฟ้อและการระดมถอนเงินดอลลาร์ออกไปเก็งกำไรจากค่าเงินเปโซที่ลดลง

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ออกมาตรการควบคุมราคาสินค้า (Price Watch) เพื่อบรรเทาผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อและค่าเงินเปโซที่อ่อนลงอย่างมากเมื่อเดือนมกราคม 2557 โดยเน้นที่สินค้าประเภทอาหารและของใช้ในบ้านเป็นหลัก มาตรการต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2557 เริ่มส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังอยู่ในอัตราที่สูงและยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยลงอย่างต่อเนื่อง และอัตราแลกเปลี่ยนทางการกับตลาดมืดขยับมาใกล้กันมากขึ้น

 


ภาวะเศรษฐกิจในปี 2554
สำนักงานสถิติอาร์เจนตินา (INDEC) รายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ Gross Domestic Product (GDP) ของปี 2554 ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 9.1 ในขณะที่ ภาคเอกชนประเมินอยู่ระหว่างร้อยละ 7-8

ตามรายงานของ Economist Intelligent Unit (EIU) ปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2554 ได้แก่ การอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราว่างงานที่ลดลงและอัตราค่าจ้างที่สูงขึ้น และการขยายการลงทุน (Gross Fixed Investment) ของอุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 17.2 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ ตลอดจนการใช้จ่ายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไป
 
ในปี 2554 ดุลบัญชีเดินสะพัด (ดุลการค้า + ดุลการบริการ) ของอาร์เจนตินาเริ่มจะติดลบเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินเมื่อปี 2544 เนื่องจากการขยายตัวของการนำเข้ามีสัดส่วนมากกว่าการส่งออกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้อาร์เจนตินาได้เปรียบดุลการค้ากับต่างประเทศน้อยลง ในขณะเดียวกัน อาร์เจนตินาเผชิญกับปัญหาเงินทุนไหลออกนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากนักลงทุนส่วนใหญ่ต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน ต.ค. 2554 ถึงแม้การติดลบของดุลบัญชีเดินสะพัดมิใช่เป็นเรื่องที่ร้ายแรงในขณะนี้ แต่การไหลออกของเงินส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าเงินเปโซ และสภาวะเงินเฟ้อในประเทศด้วย ดังนั้น รัฐบาลจึงพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ(เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ)และมาตรการกีดกันการนำเข้าจากต่างประเทศ
 
นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญอีกประการที่ส่งผลให้มีเงินทุนไหลออกอย่างต่อเนื่อง คือ ปัญหาของความน่าเชื่อถือ (Credibility) ของสถาบันการเงินภายในประเทศ ภายหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินเมื่อปี 2544 นักธุรกิจและประชาชนส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงที่จะฝากเงินไว้ในธนาคาร หากมีโอกาสก็จะแลกเงินเปโซเป็นเงินดอลลาร์ และนำไปฝากไว้กับธนาคารในต่างประเทศแทน  
 
ในชั้นนี้ รัฐบาลยังมิได้รายงานดุลการค้าของปี 2554 อย่างเป็นทางการ แต่ EIU ประเมินว่า อาร์เจนตินาจะได้เปรียบดุลการค้าประมาณ 12 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลงจากปี 2553 ประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่ ดุลการบริการติดลบเพิ่มขึ้นประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดจะติดลบประมาณ 9.7 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ  
 
สภาวะเงินเฟ้อในปี 2554 ยังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง INDEC รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อในปี 2554 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 9.5 ในขณะที่ ภาคเอกชนประเมินว่าอยู่ระหว่างร้อยละ 20-25 ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น คือ การใช้จ่ายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นก่อนการเลือกตั้ง และเงินเปโซที่อ่อนค่าลง เนื่องจากการไหลออกของเงินตราต่างประเทศ
 
เมื่อช่วงต้นปี 2554 เจ้าหน้าที่ของ IMF ได้เดินทางไปอาร์เจนตินา เพื่อให้ความช่วยเหลือกับ INDEC ในการจัดทำตัวเลขเงินเฟ้อ เนื่องจากตัวเลขของ INDEC และภาคเอกชนมีความแตกต่างกันมากและขาดความน่าเชื่อถือ รัฐบาลมีแผนการที่จะปรับปรุงการจัดทำตัวเลขเงินเฟ้อใหม่ตามคำแนะนำของ IMF ภายหลังที่การเลือกตั้งทั่วไปเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งจะต้องติดตามดูต่อไป
 
แนวโน้มปี 2555
ในปี 2555 การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจอาร์เจนตินามีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง รัฐบาลประเมินว่า GDP จะปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5 ในขณะที่ ธนาคารโลกประเมินว่า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3.7 ตามรายงาน “Outlook and Perspectives of the World Economy” ล่าสุดของธนาคารโลก
 
ในปี 2555 รัฐบาลอาร์เจนตินามีแนวโน้มที่จะออกมาตรการต่างๆ มาควบคุมการค้าและการเงินระหว่างประเทศมากขึ้น ซึ่งจะสร้างอุปสรรคที่เกินควรให้กับภาคเอกชน และจะทำให้เกิดความขัดแย้งทางการค้ากับนานาประเทศ รวมถึงประเทศกลุ่ม MERCOSUR ด้วยกันเอง
 
อุปสรรคสำคัญในปี 2555 ยังคงเป็นปัญหาของสภาวะเงินเฟ้อในประเทศ ซึ่งรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ มาตรการ unorthodox ที่รัฐบาลใช้ในการควบคุมเงินเฟ้อและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จะเริ่มมีความยากลำบากมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดน้อยลง (ปัจจุบัน เหลืออยู่ประมาณ 46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และสภาวะเศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัวลง ดังนั้น รัฐบาลอาจมีความจำเป็นต้องใช้เงินจากกองทุนบำนาญ (Private Pension Fund) มากยิ่งขึ้น ซึ่งรัฐบาลโอนมาจาก ANSES เมื่อปี 2551
 
นอกจากนี้ อาร์เจนตินากำลังเผชิญกับสภาวะภัยแล้ง โดยเฉพาะในเขต Pampas ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกที่สำคัญที่สุดของประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ผลผลิตด้านการเกษตร มีปริมาณลดลง โดยเฉพาะข้าวโพดและถั่วเหลือง ซึ่งเป็นสินค้าที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศ ในขณะเดียวกัน การส่งออกก็จะลดลงเช่นกัน ดังนั้น หลายฝ่ายคาดว่า บัญชีเดินสะพัดน่าจะติดลบอีกในปีนี้
 
ถึงแม้รัฐบาลอาร์เจนตินาจะสามารถควบคุมปัจจัยภายในประเทศได้ทั้งหมดโดยการออกมาตรการต่างๆ มาเพื่อควบคุมการค้าและการเงิน ตลอดจนราคาสินค้า แต่สภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงในปี 2555 ย่อมจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาด้วย ในขณะเดียวกัน ภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องย่อมมีผลกระทบโดยตรงกับประชาชนทุกภาคส่วน เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ปัญหาดังกล่าวมิได้สร้างแรงกดดันกับรัฐบาลมากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจยังขยายตัวอยู่และนายจ้างสามารถขึ้นอัตราค่าจ้างให้กับกลุ่มแรงงานต่างๆ ได้ตามสภาวะเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี หากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาต้องชะลอตัวลงในปี 2555 ประเด็นดังกล่าวจะเริ่มสร้างปัญหามากยิ่งขึ้นให้กับรัฐบาล