ภาคอุตสาหกรรม

ภาคอุตสาหกรรมของอาร์เจนตินาส่วนใหญ่ขับเคลื่อนโดยตลาดภายในประเทศ MERCOSUR ถือเป็นตลาดหลักของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าแปรรูป สินค้าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่มแปรรูป ยานยนต์และอะไหล่ น้ำมันกลั่น ไบโอดีเซล เคมีภัณฑ์ เวชภัณฑ์ เหล็กกล้า อะลูมิเนียม เครื่องจักรกลสำหรับฟาร์มและภาคอุตสาหกรรม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และของใช้ภายในบ้าน เครื่องครัว เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ กังหัน ปั้นจั่น เสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์และอวกาศ

ในปี 2556 อาร์เจนตินาผลิตยานยนต์ 791,000 คัน ส่งออก 433,000 คัน อาร์เจนตินาเป็นผู้ผลิตไวน์รายใหญ่ 1 ใน 5 ของโลก อย่างไรก็ตาม ในปี 2543 ผลผลิตเบียร์เริ่มมีปริมาณมากกว่าไวน์ ปัจจุบัน อาร์เจนตินาผลิตเบียร์ได้ 2,000,000,000 ลิตร/ปี ในขณะที่ผลิตไวน์ได้ 1,000,000,000 ลิตร/ปี

อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ กว่าครึ่งอยู่ในกรุงบัวโนสไอเรสและปริมณฑล นอกนั้นส่วนใหญ่อยู่ใน จ. Córdoba, Rosario, และ Ushuaia โดยเฉพาะ จ. Ushuaia เป็นแหล่งผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แหล่งใหญ่ของประเทศในช่วงทศวรรษที่ 1980 ในปี 2554 ยอดรวมการผลิตคอมพิวเตอร์ แล็บท็อป และเซอร์เวอร์ เติบโตร้อยละ 160 หรือประมาณ 3,400,000 ชิ้น ตอบสนองความต้องการ 2 ใน 3 ของตลาดภายในประเทศ

อุตสาหกรรมก่อสร้างมีสัดส่วนร้อยละ 5 ของ GDP และ 2 ใน 3 ของการก่อสร้าง ได้แก่ อาคารที่พักอาศัย

ในปี 2556 การผลิตไฟฟ้ามีปริมาณ 133,000,000,000 Kwh ส่วนมากผลิตจากก๊าซธรรมชาติและเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ

อีกทั้ง อาร์เจนตินาเป็นผู้ผลิตและส่งออกพลังงานนิวเคลียร์ cobalt-60 ที่ใช้ในการรักษามะเร็งรายใหญ่อันดับต้นของโลกเช่นเดียวกับแคนาดาและรัสเซีย  

ข้อมูลด้านพลังงานและแร่ลิเธียม (Lithium) ของอาร์เจนตินา

1. น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

1.1 นโยบายรัฐบาลอาร์เจนตินาในการส่งเสริมการค้าการลงทุนในน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

 การลงทุนขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจัดอยู่ในประเภทการลงทุนที่รัฐบาลอาร์เจนตินาสนับสนุน อาร์เจนตินานำเข้าพลังงานเป็นมูลค่า 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี รัฐบาลพยายามเพิ่มผลผลิตน้ำมันภายในประเทศและกระตุ้นเอกชนให้เพิ่มการลงทุน ในปี 2557 รัฐบาลปรับปรุงกฎหมายพลังงานฉบับปี 2510 เพื่อเพิ่มแรงจูงใจและสิทธิประโยชน์ในการลงทุนผลิตพลังงานโดยเฉพาะประเภท unconventional ซึ่งได้แก่ shale oil และ shale gas[1]

 กฎหมายใหม่เปิดโอกาสให้บริษัทน้ำมันต่างชาติไม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการควบคุมเงินตราต่างชาติและข้อจำกัดการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์และการส่งคืนกำไรกลับประเทศ และลดเกณฑ์มูลค่าการลงทุนขั้นต่ำจาก 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในระยะเวลา 5 ปี เพื่อจะได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว นอกจากนี้ ยังเริ่มระบบการประมูลสัมปทานการสำรวจพลังงานระดับประเทศทดแทนระดับจังหวัดที่มีความแตกต่างกันไปตามแต่ละจังหวัด ขยายระยะเวลาสัมปทานเป็น 35 ปี สำหรับประเภท unconventional และ 30 ปี สำหรับประเภท offshore drilling สามารถขอต่ออายุได้อีก 10 ปี ฯลฯ

1.2 แหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติประเภท unconventional (shale oil และ shale gas)

 1.2.1 แหล่ง Vaca Muerta

 ก. ข้อมูลทั่วไป ศักยภาพ และสถานการณ์การลงทุนจากต่างชาติ

บริษัท Accenture ที่ปรึกษาด้านการวิเคราะห์และวางแผนได้ประเมินว่า แหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ Vaca Muerta[2] ใน จ. Neuquén จัดว่าเป็นแหล่ง shale oil ที่ใหญ่อันดับ 4 ของโลก และเป็นแหล่ง shale gas ที่ใหญ่อันดับ 2 ของโลก ประมาณการณ์ว่าแหล่ง Vaca Muerta ในจังหวัด Neuquén มี shale oil 16,000 ล้านบาร์เรล และ shale gas  310 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต มีศักยภาพในการผลิตน้ำมัน 661 พันล้านบาร์เรล และผลิตก๊าซธรรมชาติ 1,181 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต มีศักยภาพในการลงทุนสูงที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับแหล่งประเภท shale oil / gas ในประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน เม็กซิโก โปแลนด์ รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย สหราชอาณาจักร และแอฟริกาใต้ (ไม่รวมสหรัฐฯ)[3] ปัจจัยที่นำมาประกอบการประเมิน ได้แก่ ลักษณะทางธรณีวิทยา คุณภาพของชั้นหิน การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในพื้นที่ การเข้าถึงพื้นที่ ความหนาแน่นของประชากรในพื้นที่[4] การเข้าถึงแหล่งน้ำซึ่งจำเป็นในการกะเทาะหิน โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนและทางรถไฟ คุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ และท่าทีของ NGOs

 นับตั้งแต่มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติประเภท unconventional ด้วยต้นทุนที่ต่ำพอจะนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ หลายประเทศที่ไม่เคยมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติก็เริ่มมีความหวังขึ้นมา อาร์เจนตินาก็เป็นหนึ่งในประเทศเหล่านั้นที่หวังว่ารายได้จากแหล่ง Vaca Muerta และแหล่งอื่น ๆ ที่เพิ่งค้นพบจะสร้างรายได้มหาศาลให้อาร์เจนตินามีเศรษฐกิจดีขึ้นและสามารถชำระหนี้ระหว่างประเทศได้

 ปัจจุบัน บริษัท YPF เป็นเจ้าของพื้นที่ 12,000 ตร.กม. ในแหล่ง Vaca Muerta มีทีมขุดเจาะน้ำมัน 19 ทีม และได้เริ่มขุดน้ำมันไปแล้ว 150 บ่อ มีกำลังการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากกว่า 20,000 บาร์เรลต่อวัน ปัจจุบันแหล่งดังกล่าวได้ถูกจัดสรรเป็นบล็อก ๆ ให้หลายบริษัทเข้าไปร่วมลงทุน เช่น Petrobras, Total S.A., Americas Petrogas, ExxonMobil, Gas y Petroleo del Neuquen, Shell, Medanito, Wintershall, Madalena Ventures, Azabache, Tecpetrol, Pan American Energy เป็นต้น และกำลังแสวงหานักลงทุนต่างชาติเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาแหล่ง Vaca Muerta

 เมื่อเดือน พ.ค. 2556 YPF ได้ลงนามร่วมทุนกับบริษัท Chevron ซึ่งจะลงทุน 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อขุดเจาะน้ำมัน 132 บ่อ ในพื้นที่ Loma Campaña และอาจเพิ่มขึ้นถึง 16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหากการลงทุนในระยะแรกมีผลกำไรดี และเมื่อ 24 ก.ย. 2556 YPF ได้ลงนามร่วมทุนกับบริษัท Dow Chemical ขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ 16 บ่อ ในพื้นที่ El Orejano บล็อกในแหล่ง Vaca Muerta ด้วยสัดส่วนลงทุนโดย Dow Chemical 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และโดย YPF 68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ เมื่อ 10 ธ.ค. 2556 บริษัท Shell Argentina ได้ประกาศจะเพิ่มทุนการผลิตในแหล่ง Vaca Muerta เป็นประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2557 จากเดิม 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2556

 เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2557 บริษัทน้ำมัน YPF ได้ลงนาม MOU เพื่อร่วมกับบริษัทน้ำมัน Petronas ของมาเลเซียในการลงทุนระยะเบื้องต้นเพื่อประเมินศักยภาพในการพัฒนาและผลิตน้ำมันในพื้นที่ Amarga Chica บล็อก 187 ตร.กม. ในแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ Vaca Muerta จ. Neuquén ในเขต Patagonia ซึ่งเป็นแหล่งที่มีศักยภาพในการพัฒนาสูง โดยมีมูลค่าการลงทุน 1.24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐและอาจเพิ่มถึง 16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ YPF กำลังหาผู้ร่วมทุนจากต่างชาติมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ได้ลงนามร่วมทุนกับบริษัท Chevron และบริษัท Dow Chemical

 เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2557 มีข่าวว่า นาย George Soros มหาเศรษฐีนักเก็งกำไรชาวอเมริกันเชื้อสายฮังกาเรียนผู้เคยโจมตีค่าเงินบาทเมื่อปี 2540 ได้ซื้อหุ้นบริษัทน้ำมัน YPF ของอาร์เจนตินาจำนวน 8.47 ล้านหุ้นหรือร้อยละ 3.5 นับเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 4 ของบริษัท

 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแหล่ง Vaca Muerta จะมีศักยภาพสูง แต่ต้องอาศัยเทคโนโลยีชั้นสูงในการขุดเจาะน้ำมัน / ก๊าซ อาร์เจนตินายังไม่มีเทคโนโลยีดังกล่าวเป็นของตนเองจึงต้องพยายามดึงดูดต่างประเทศที่มีเทคโนโลยี เช่น สหรัฐฯ มาลงทุน ซึ่งผลการวิเคราะห์ของ Accenture น่าจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุนตัดสินใจมาลงทุนใน Vaca Muerta มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความผันผวนทางเศรษฐกิจและกฎระเบียบทางการเงินของอาร์เจนตินาอาจมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติ

 ข. โอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย

 (1) ขณะนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีในการบุกตลาดอาร์เจนตินาเพราะรัฐบาลชุดใหม่ของอาร์เจนตินาที่เพิ่งเข้ารับหน้าที่เมื่อ 10 ธ.ค. 2558 มีนโยบายขับเคลื่อนประเทศสู่ระบบเศรษฐกิจเสรี และกำลังเร่งส่งเสริมการค้าการลงทุนกับต่างชาติอย่างเต็มที่ รวมทั้งกำลังเร่งแก้ไขกฎระเบียบให้เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจ เช่น การยกเลิกมาตรการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ การลดกำแพงภาษีและขั้นตอนการนำเข้า-ส่งออก รวมทั้งการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ฯลฯ ทำให้ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสที่เหมาะสมสำหรับนักธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติ

 (2) โดยที่อาร์เจนตินากำลังหาผู้ร่วมทุนจากต่างชาติมากขึ้นเพื่อร่วมพัฒนาแหล่ง Vaca Muerta ซึ่งมีศักยภาพสูง โดยเฉพาะการร่วมทุน/ลงทุนสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซทั้งประเภท conventional  และ unconventional

 (3) การลงทุน / ร่วมทุนหรือค้าขายในธุรกิจอื่น ๆ ที่อาจผูกโยงกับธุรกิจน้ำมันและก๊าซบริเวณรอบ ๆ แหล่ง Vaca Muerta ในจังหวัด Neuquén ก็ถือเป็นโอกาสที่น่าสนใจ เพื่อรองรับชาวต่างชาติและผู้ที่เข้าไปทำงานทุกระดับในกิจการด้านน้ำมันและก๊าซ เช่น ผู้ใช้แรงงาน วิศวกร และผู้บริหาร เนื่องจากแต่เดิม บริเวณ Vaca Muerta เป็นเพียงที่รกร้างว่างเปล่ากึ่งทะเลทราย มีชุมชนอาศัยอยู่บางตา แต่เมื่อมีการค้นพบน้ำมันและก๊าซ ก็มีผู้คนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจน้ำมันและก๊าซอพยพเข้ามาทำงานนับหมื่นคน เกิดเป็นเมืองใหม่ขึ้นมาแต่ยังขาดสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น ธุรกิจที่มีโอกาส ได้แก่

 (3.1) การลงทุน / ร่วมทุนด้านการก่อตั้งและ / หรือบริหารโรงแรม บ้านพัก ห้างสรรพสินค้า สนามกอล์ฟ สปา นวดเพื่อสุขภาพ ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ และบริการอื่น ๆ ด้านที่อยู่อาศัย สุขภาพ ความบันเทิง และการพักผ่อนหย่อนใจ และยังสามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในการพัฒนาได้อีกมาก

 (3.2) การลงทุน / ร่วมทุนด้านการก่อสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทุกชนิด รวมถึงซอฟท์แวร์ระบบ IT ที่สามารถช่วยพัฒนาการเชื่อมโยงและบริหารจัดการภายในรัฐบาลท้องถิ่น

 (3.3) แรงงานไทยและพนักงานในกิจการข้างต้น

 (3.4) สินค้าจากไทยที่น่าศึกษาความคุ้มค่าในการส่งออกไป จ. Neuquén ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรกล รถยนต์ รถกระบะ อะไหล่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน นอกจากนี้ สินค้าและบริการที่เป็นที่ต้องการ ได้แก่ Biocides; Chemicals & Gases; Downhole Tools; Drill Bits & Reamers; Drilling Equipment; Drilling Fluids; Friction Reducers; Gelling Agents; Proppants; Sand Proppants; Stimulation Products; Tubular Goods; Produced-Water Treatment Systems; Water-Waste Treatment/Disposal Technologies; Data Collection Technology; Drilling Foot-Print Reduction Technologies; Land Disturbance-Mitigation Systems

(3.5) โดยที่น้ำมีส่วนสำคัญในการผลิตพลังงานประเภท unconventional อาร์เจนตินาจึงต้องการการลงทุนจากต่างชาติที่มีความรู้ความชำนาญในการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากน้ำและการบำบัดน้ำด้วย

 ค. ปัญหาและอุปสรรค เศรษฐกิจอาร์เจนตินามีความผันผวนสูง แม้ช่วงนี้รัฐบาลจะส่งเสริมการค้าเสรีมากกว่ารัฐบาลชุดก่อน แต่นักลงทุนไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาเปราะบาง มีหนี้ต่างประเทศสูง อัตราเงินเฟ้อคงจะสูงอย่างต่อเนื่องไปอีก 2 - 3 ปี (ปัจจุบันประมาณร้อยละ 25 - 35 ต่อปี) และผู้ลงทุนไทยควรตระหนักว่า สหภาพแรงงานของอาร์เจนตินาค่อนข้างแข็งแกร่งและมักเรียกร้องสิทธิและสวัสดิการบ่อยครั้ง

 1.2.2 แหล่งอื่น ๆ

 เมื่อเดือน มิ.ย. 2557 บริษัทน้ำมัน YPF ได้ค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติประเภท tight gas[5]แห่งใหม่ ใน จ. Mendoza ติดกับตอนเหนือของ จ. Neuquén มีศักยภาพในการผลิตก๊าซ 25 ล้านบาร์เรล ครอบคลุมพื้นที่ 125,000 ตร.กม. ขณะนี้ บ.น้ำมัน YPF เป็นผู้ควบคุมการสำรวจขุดเจาะแต่เพียงผู้เดียว นอกจากนี้ บริษัทน้ำมัน YPF ยังค้นพบแหล่งไฮโดรคาร์บอนใน จ. Rio Negro และ จ. Chubut ติดกับจ. Neuquén ทางตอนใต้อีกด้วย

1.3 ก๊าซธรรมชาติ

 อาร์เจนตินามีการเติบโตของการใช้ก๊าซธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนยานพาหนะที่ติดตั้งก๊าซธรรมชาติ (NGVs) ในปี 2557 มีจำนวนทั้งหมด 1,695,243 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากปี 2556 ซึ่งสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก รวมทั้งยังมีสถานี NGV ที่มากที่สุดในภูมิภาคลาตินอเมริกา และได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ก๊าซธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง โดยอาร์เจนตินามุ่งเน้นผลักดันการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคการขนส่ง เนื่องจากลดต้นทุนได้มาก อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันอาร์เจนตินากลับพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศในสัดส่วนที่มากกว่าการผลิตเอง โดยเฉพาะจากประเทศโบลิเวีย เนื่องจากการผลิตเองมีต้นทุนที่สูงกว่า รวมถึงการผลิตในประเทศยังไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้อาร์เจนตินาหันไปให้ความสำคัญกับการผลิตพลังงานทดแทนอื่น ๆ มากขึ้น

 2. พลังงานทดแทน

 2.1 นโยบายรัฐบาลอาร์เจนตินาในการส่งเสริมพลังงานทดแทน

 อาร์เจนตินาให้ความสำคัญอย่างมากต่อการใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานลมและไบโอดีเซล เนื่องจากช่วยลดการนำเข้าพลังงาน และยังช่วยให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทสามารถเข้าถึงพลังงานได้มากขึ้น อาร์เจนตินามีเทคโนโลยีและมีพื้นที่ขนาดใหญ่สำหรับติดตั้งเครื่องกำเนิดพลังงานลม และมีวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซลจำนวนมาก คือ ถั่วเหลือง อ้อย ข้าวโพด

 ในปี 2549 รัฐบาลอาร์เจนตินาออก พ.ร.บ. ที่ 26190 ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนโดยกำหนดว่า ภายในปี 2560 ร้อยละ 8 ของไฟฟ้าต้องผลิตจากแหล่งพลังงานทดแทน และจะต้องเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ภายในปี 2563 จากปัจจุบันที่ใช้พลังงานทดแทนในการผลิตในสัดส่วนเพียงร้อยละ 1 พ.ร.บ. ที่ 26093 กำหนดเป้าหมายให้ในปี 2553 ร้อยละ 5 ของน้ำมันเชื้อเพลิงต้องมีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuel) และร้อยละ 7 สำหรับไบโอดีเซล รัฐบาลมีมาตรการคืนภาษียกเว้นภาษีบางประเภทให้กับการลงทุนในพลังงานทดแทน

 2.2 พลังงานลม

 พลังงานลมเป็นพลังงานทดแทนที่มีบทบาทมากที่สุดสำหรับอาร์เจนตินา อาร์เจนตินาเป็น 1 ใน 5 ประเทศของโลกที่มีศักยภาพในการผลิตพลังงานลมสูงสุด เป็นแหล่งกังหันลมที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาใต้ โดยศักยภาพการผลิตพลังงานลมได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ในปี 2555 มีศักยภาพการผลิตเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 115 จากปี 2554 ปัจจุบัน พลังงานลมสามารถนำไปใช้ประโยชน์โดยเฉพาะในการผลิตไฟฟ้าที่สามารถให้บริการชาวอาร์เจนตินาได้มากกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่ประเทศ ความเร็วลมเฉลี่ยในการผลิตอยู่ที่ประมาณ 6 เมตรต่อวินาที แหล่งผลิตพลังงานลมที่สำคัญอยู่บริเวณพื้นที่ Patagonia ทางตอนใต้ของอาร์เจนตินาซึ่งมีความเร็วลมเฉลี่ยสูงถึง 9-12 เมตรต่อวินาที และถือเป็นแหล่งกังหันพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาใต้ นอกจากนี้ อาร์เจนตินายังมีแผนที่จะสร้างแหล่งพลังงานลมอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมีความร่วมมือกับจีนที่จะเข้ามาสร้างแหล่งพลังงานเพิ่มเติมในอาร์เจนตินา

2.3 ไบโอดีเซล

 อาร์เจนตินามีศักยภาพการผลิตไบโอดีเซลสูง ทั้งการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศและการส่งออก อาร์เจนตินาเป็นผู้ส่งออกไบโอดีเซลอันดับ 4 ของโลก วัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซลที่สำคัญ คือ ถั่วเหลือง อ้อย และข้าวโพดที่มีการปลูกมากในอาร์เจนตินาทำให้มีความสามารถในการผลิตสูง

 2.4 พลังงานแสงอาทิตย์

ส่วนใหญ่อาร์เจนตินาใช้พลังงานแสงอาทิตย์สำหรับผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ชนบทห่างไกล ปัจจุบันอาร์เจนตินากำลังพัฒนาศักยภาพการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สัดส่วนการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ยังคงมีเพียงร้อยละ 0.4 นอกจากนี้ อาร์เจนตินายังนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร โดยนำมาใช้ปรับปรุงคุณภาพดินเพื่อเพิ่มผลผลิต

3. พลังงานนิวเคลียร์

อาร์เจนตินามีความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมากที่สุดประเทศหนึ่งในลาตินอเมริกา โดยเฉพาะศักยภาพด้านนิวเคลียร์และพลังงานทดแทน อาร์เจนตินาให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติมากว่า 60 ปี โดยอาร์เจนตินามีเทคโนโลยีการผลิตและควบคุมพลังงานนิวเคลียร์ที่ทันสมัย ได้มาตรฐานสากล มีการลงทุนวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องซึ่งส่วนใหญ่จะร่วมมือกับประเทศอื่นโดยเฉพาะบราซิล ปัจจุบันมีศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในอาร์เจนตินา 4 แห่ง ที่มีชื่อเสียง เช่น INVAP พลังงานนิวเคลียร์ของอาร์เจนตินาส่วนมากถูกใช้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งนับเป็นประเทศแรก ๆ ในโลก และเป็นประเทศแรกในลาตินอเมริกาที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอาร์เจนตินาทั้งหมด 3 แห่ง และกำลังก่อสร้างเพิ่มอีก 3 แห่งโดยความร่วมมือกับจีนและรัสเซีย และยังเป็นผู้ผลิตและส่งออกเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ไปยังประเทศต่าง ๆ เช่นอียิปต์ แอลจีเรีย เปรู และออสเตรเลีย รวมทั้งการผลิตและส่งออกกัมมันตภาพรังสี โดยที่สำคัญที่สุด คือ ไอโซโทปรังสีโมลิบดีนัม 99 (Mo99) ซึ่งอาร์เจนตินาสามารถผลิตได้ร้อยละ 5 ของการผลิตทั่วโลก

  อาร์เจนตินาเคยเสนอขายเทคโนโลยีนิวเคลียร์ให้ไทยสำหรับจัดตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ แต่ไทยยังไม่มีความพร้อม ฝ่ายไทยเห็นว่าเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่ไทยควรรับจากอาร์เจนตินาน่าจะเป็นนิวเคลียร์เพื่อการแพทย์มากกว่า

  อาร์เจนตินามีการลงทุนวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ในทางการแพทย์หรือเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เช่น การทำ CT Scan การศึกษาการทำงานของปอด การตรวจและรักษาต่อมไทรอยด์ และการรักษาเนื้องอกและมะเร็ง อาร์เจนตินาเป็นผู้ผลิตและส่งออกพลังงานนิวเคลียร์ cobalt-60 ที่ใช้ในการรักษามะเร็งรายใหญ่อันดับต้นของโลกเช่นเดียวกับแคนาดาและรัสเซีย

 4. ลิเธียม (Lithium)

 4.1 ข้อมูลทั่วไปและศักยภาพ

แม้ว่าลิเธียมจะไม่ใช่พลังงานโดยตรงในตัวเอง แต่สามารถเป็นวัตถุดิบที่สำคัญและน่าสนใจในการผลิตพลังงานเพื่อรองรับเทคโนโลยีและสังคมเมืองยุคใหม่ (เช่น แบตเตอรี่สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และ รถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริด) ที่ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาเป็นโอกาส การทำเหมืองแร่ลิเธียมในอาร์เจนตินากำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพราะอาร์เจนตินามีโอกาสครอบครองส่วนแบ่งตลาดสูงขึ้น

อุตสาหกรรมเหมืองแร่ในอาร์เจนตินากำลังเติบโตและได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลอาร์เจนตินา อาร์เจนตินามีแหล่งทรัพยากรขนาดใหญ่ (อาร์เจนตินามีพื้นที่ใหญ่กว่าไทย 5 เท่า) ภูมิประเทศมีทั้งภูเขา ทุ่งหญ้า ทะเลทราย และชั้นดินชั้นหินยุคดึกดำบรรพ์ จึงเป็นแหล่งสะสมของแร่ธาตุหลากหลายชนิด มีบริษัทใหญ่ระดับโลกเข้าไปลงทุน เช่น Xstrata plc (Switzerland), Goldcorp, Inc. (Canada), Yamana Gold (Canada), AngloGold Ashanti Ltd (South Africa), FMC Corp. (US), Barrick Gold (Canada) ฯลฯ ดังนั้น หากเป็นกิจการไทยขนาดใหญ่หรือมีความเชี่ยวชาญ การลงทุนหรือร่วมทุนทำเหมืองแร่ในอาร์เจนตินาก็น่าสนใจ

ลิเธียมเป็นแร่ธาตุที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามการพัฒนาของเทคโนโลยีและสังคมเมืองยุคใหม่เพราะเป็นวัตถุดิบในการผลิตแหล่งสำรองพลังงานประเภทแบตเตอรี่สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริด นอกจากนี้ ยังใช้ในการผลิตยารักษาโรคประสาทและโรคซึมเศร้า ผลิตอุปกรณ์วัดความชื้น ผลิตสารหล่อลื่นเครื่องยนต์ ใช้ในการหลอมโลหะและบัดกรี ใช้เชื่อมสำหรับการผลิตเซรามิค วัสดุเคลือบ เครื่องแก้ว และกระจก ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานที่ต้องการประสิทธิภาพสูง

ร้อยละ 70 ของแหล่งแร่ลิเธียมดิบในโลกอยู่ในประเทศอาร์เจนตินา ชิลี และโบลิเวีย แต่โดยที่ชิลียุติการให้สัมปทานเพิ่มเติมสำหรับการทำเหมืองแร่ลิเธียมแล้ว ส่วนโบลิเวียขาดความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและล่าสุดได้สั่งระงับการทำเหมืองแร่ลิเธียมชั่วคราวเนื่องจากเกิดการประท้วงโดยชุมชนในพื้นที่ ทำให้อาร์เจนตินามีโอกาสครอบครองส่วนแบ่งตลาดสูงขึ้น (ปัจจุบันอาร์เจนตินาเป็นผู้ผลิตลิเธียมอันดับ 4 ของโลก) ในอาร์เจนตินาพบแร่ลิเธียมมากในจังหวัด Salta, Jujuy และ Catamarca ในปี 2557 มีการใช้แร่ลิเธียมทั่วโลก 170,000 ตัน บริษัทจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้ไปลงทุนทำเหมืองแร่ลิเธียมในอาร์เจนตินาแล้ว คาดว่าแหล่งแร่ลิเธียมในอาร์เจนตินาจะรองรับการผลิตได้อีกถึง 40 ปีข้างหน้า (เอกสารแนบ 5) ปัจจุบัน มีบริษัทเพียงไม่กี่แห่งในโลกที่มีเทคโนโลยีในการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียม (ญี่ปุ่น 7 สหรัฐฯ 2 เกาหลีใต้ 2 และจีน 1 บริษัท) บริษัทเหล่านี้ต้องพึ่งพาซัพพลายเออร์ที่มีน้อยรายในการผลิตส่วนประกอบที่ใช้ในการทำแบตเตอรี่

 

4.2 โอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย

4.2.1 หากผู้ประกอบการไทยสนใจและมีศักยภาพในการลงทุน หรือพัฒนาหุ้นส่วนทางธุรกิจกับบริษัทจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือจีน ในฐานะเจ้าของเทคโนโลยีหรือนักลงทุนที่ไปลงทุนทำเหมืองแร่ลิเธียมในอาร์เจนตินา หรือพัฒนาหุ้นส่วนทางธุรกิจกับอาร์เจนตินาในฐานะเจ้าของสัมปทานหรือซัพพลายเออร์ ก็น่าจะเป็นโอกาสยกระดับหรือขยายขอบข่ายธุรกิจ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ของไทย เช่น โทรศัพท์มือถือและรถยนต์ไฟฟ้าหรือไฮบริด ที่จะมีความต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต จากที่เคยเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิต ผู้ประกอบชิ้นส่วน หรือผู้ค้าอะไหล่ ให้ครบวงจรธุรกิจหรือมีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์มากขึ้นเพื่อให้ทันการณ์กับเทคโนโลยีในอนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์เชิงรุกของรัฐบาลไทยที่ส่งเสริมการลงทุนของไทยที่มีคุณค่าในต่างประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) ยุทธศาสตร์การต่อยอดอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) และเพื่อสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลอาร์เจนตินาชุดปัจจุบันที่พร้อมจะส่งเสริมการค้าการลงทุนกับต่างชาติ

4.2.2 ธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวโยงกับการทำเหมืองแร่ลิเธียมที่อาจเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย ได้แก่ การส่งออกอุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในอุตสาหกรรมหรือการทำเหมือง เครื่องจักร เครื่องกล เครื่องยนต์ เครื่องจุดประกาย มาตรวัด คอมเพรสเซอร์ เครื่องซักล้าง เครื่องอบ อุปกรณ์ทำความสะอาด เครื่องมือสื่อสาร เครื่องรับวิทยุและโทรทัศน์ แผงสวิทซ์และแผงควบคุมไฟฟ้า อะไหล่และส่วนประกอบรถยนต์ รถขุด รถยก ลูกปืนล้อ ผลิตภัณฑ์จากยางพารา เหล็ก โพลิเมอร์ และพลาสติก อุปกรณ์การแพทย์และปฐมพยาบาล อุปกรณ์ป้องกันตัวและเพิ่มความปลอดภัย (เช่น หมวก ถุงมือ) 

 

 

 

 


 

[1] Shale oil / gas คือ น้ำมันดิบ / ก๊าซธรรมชาติประเภท unconventional ที่พบในชั้นหินดินดาน

[2] บริษัท Repsol-YPF ค้นพบเมื่อปี 2553 เป็นแหล่งพลังงานประเภท unconventional ที่ใหญ่ลำดับต้น ๆ ของโลก

[3] Accenture ไม่ได้นำสหรัฐฯ มาวิเคราะห์ด้วยเนื่องจากสหรัฐฯ มีการขุดเจาะ unconventional oil / gas ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าไปไกลแล้ว โดยเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ค้นพบเทคโนโลยี Hydraulic Fracturing (และล่าสุด Slick-water Fracturing) หรือการขุดเจาะโดยใช้น้ำแรงดันสูงผสมสารเคมีและทรายเพื่อให้หินแตกร้าว ใช้ควบคู่กับเทคนิค Horizontal Drilling หรือการขุดเจาะแบบแนวราบ ซึ่งสหรัฐฯ สามารถพัฒนาจนมีต้นทุนการขุดเจาะต่ำพอที่จะนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ ช่วงปี 2548 - 2553 การขุดเจาะ shale gas ในสหรัฐฯ ขยายตัวถึงร้อยละ 45 ต่อปี

[4] ยกตัวอย่างแหล่ง shale oil / gas ในจีนซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแต่อยู่ในเขตพื้นที่ที่มีประชากรอยู่หนาแน่นหรืออยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง

[5] Tight gas คือ ก๊าซธรรมชาติประเภท unconventional ที่พบได้ในชั้นหินหลายชนิด เช่น ชั้นหินทรายหรือชั้นหินปูน ไม่เฉพาะในชั้นหินดินดานเท่านั้น