ปัญหาภัยแล้งในอุรุกวัย

 
 
ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ประเทศอุรุกวัยประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก โดยแหล่งน้ำที่สำคัญอย่าง Paso Severino ที่ประชากรกว่าร้อยละ 60 ใช้อุปโภคบริโภค เหลือเพียงประมาณ 1 เปอร์เซ็นเท่านั้น ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง เนื่องจากภัยแล้งทำให้การผลิตในด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมหยุดชะงัก ราคาสินค้ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำดื่มบรรจุขวด
 
ประเทศอุรุกวัย เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่นับว่ามีความอุดมสมบูรณ์สูง มีทั้งแม่น้ำและน้ำบาดาลเป็นจำนวนมาก อยู่ในพื้นที่ภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้นกึ่งเขตร้อน มีสินค้าส่งออกด้านเกษตรกรรมและปศุสัตว์ที่สำคัญ อาทิ เนื้อวัว ถั่วเหลือง และข้าว ซึ่งล้วนเป็นสินค้าที่ต้องใช้น้ำจำนวนมากในขั้นตอนการผลิต นอกจากนี้โรงงานอุตสาหกรรมก็เป็นอีกหนึ่งแหล่งที่ใช้น้ำในการดำเนินการมาก อีกทั้งยังทำให้แหล่งน้ำปนเปื้อนอีกด้วย ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะภายในประเทศอุรุกวัยเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาทั้งในประเทศปารากวัยและ ประเทศอาร์เจนตินา ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า และอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
สำนักข่าว DW รายงานว่า ภัยแล้งนี้เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ La Niña
โดยปกติแล้ว เราจะคุ้นเคยว่า ปรากฏการณ์ La Niña จะนำพาอากาศชื้นและฝนเข้ามา ซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัย แต่จริงๆ แล้ว La Niña ก็ทำให้เกิดภัยแล้งได้เช่นกัน โดยมีการคาดการณ์จากกระทรวงปศุสัตว์ เกษตรกรรม และประมง ของประเทศอุรุกวัยว่าความเสียหายจากภัยแล้งมีมูลค่าสูงถึง 2 ล้านยูโร
 
ปัญหาภัยแล้งนี้ ยังได้ทำให้เกิดการหนุนของน้ำทะเล ทำให้น้ำจืดในแหล่งน้ำกลายเป็นน้ำกร่อยที่เค็มมากกว่า 2 เท่า ของค่าความเค็มสูงสุดที่ WHO แนะนำว่าไม่ควรเกิน โดยค่าที่แนะนำอยู่ที่ โซเดียม 200 มิลลิกรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร แต่ค่าที่วัดได้ในประเทศอุรุกวัยคือ 440 มิลลิกรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร
 
ด้านรัฐบาลอุรุกวัย นำโดยประธานาธิบดี Luis Lacalle Pou ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านน้ำ โดยมีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มในน้ำดื่มบรรจุขวด ทั้งน้ำเปล่า โซดา ฯลฯ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาน้ำดื่มบรรจุขวดที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังได้มีการรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัด เช่น การอาบน้ำให้สั้นลง และยังได้มีการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เช่น การแจกน้ำดื่มที่บริโภคได้ให้กับกลุ่มผู้ตั้งครรภ์ เพราะน้ำที่มีความเค็มมากกว่าค่ามาตรฐานอาจทำให้เกิดอันตรายกับเด็กได้
 
เสียงตอบรับจากประชาชนในมาตรการของรัฐยังไม่สู้ดีนัก มีการประท้วงที่ขึ้นป้ายว่า “No es sequía, es saqueo” หรือแปลได้ว่า นี่ไม่ใช่ภัยแล้ง แต่เป็นการปล้น โดยเป็นการเล่นคำพ้องที่อ้างถึงการขึ้นราคาของสินค้าที่เกิดขึ้นจากภัยแล้ง โดยหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดการประท้วงคือการที่ในรัฐธรรมนูญของอุรุกวัย มีการเพิ่มมาตราหนึ่งที่คุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงน้ำดื่มที่บริโภคได้ ตั้งแต่ปี 2004
 
นักวิจารณ์บางส่วนมองว่า เป็นความไม่พร้อมของรัฐที่คาดไม่ถึงว่าภัยแล้งจะส่งผลกระทบหนักขนาดเท่าที่เกิดในปัจจุบัน ซึ่งทำให้ไม่ได้มีการพัฒนา หรือปรับปรุงระบบประปาและน้ำของประเทศให้มีประสิทธิภาพเพียงพอ
 
ด้านนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมมองว่า หนึ่งในต้นตอของปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลกระทบอย่างหนักกับประชาชนทั่วไปคือ อุตสาหกรรมเกษตร ไม่ว่าจะเป็น ปศุสัตว์ เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการผลิต ที่ล้วนแล้วแต่ใช้น้ำเป็นจำนวนมากในขั้นตอนการผลิต โดยมีการคำนวนว่ากิจกรรมทางการผลิตเหล่านี้ใช้น้ำมากกว่าร้อยละ 80 ของการบริโภคน้ำทั้งประเทศอุรุกวัย จึงมีการเรียกร้องให้อุตสาหกรรมเหล่านี้หยุดการผลิตชั่วคราวเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งนี้
 
หนึ่งในประเด็นที่ควรพูดถึงคือการตัดไม้ทำลายป่าในเขตป่าอเมซอน เนื่องจากเป็นแหล่งธรรมชาติที่สำคัญของโลก และของภูมิภาคอเมริกาใต้ การตัดไม้ทำลายป่าในเขตป่าอเมซอน ส่งผลกระทบไปยังระบบวัฏจักรน้ำ ไม่เพียงแต่รอบๆป่าอเมซอน แต่รวมถึงทั้งทวีปอีกด้วย
 
ปัจจุบัน ปัญหาภัยแล้งเป็นปัญหาที่ทั่วโลกประสบพบเจอ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่เมื่อเกิดภัยแล้ง น้ำทะเลจะหนุนขึ้น ทำให้น้ำประปากร่อยและเค็ม เกิดปัญหาสุขภาพมากมาย สำหรับกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยโรคไต ผู้สูงอายุ และเด็ก
 
ปัญหานี้ไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ควรนำนโยบายรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมาพิจารณาควบคู่ไปกับมาตรการต่างๆ ที่จำเป็น เพื่อลดผลกระทบของปัญหาได้มากที่สุด ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาระดับชาติ แต่เป็นปัญหาข้ามชาติ (Transnational) ที่ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาคประชาชนและรัฐบาลของประเทศทั่วโลกร่วมกันอย่างจริงจัง
 
 

ศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทยในอาร์เจนตินา 

17 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 

 

 

 

อ้างอิง

https://youtu.be/AEwkkE80BQs

https://youtu.be/M8F_s2Y2Shs