ถาม - ตอบ การค้า การลงทุน

 ข้อมูลด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของสาธารณรัฐอาร์เจนตินา

(ณ เดือน พฤศจิกายน 2559)

1. เศรษฐกิจ

1.1 สถานการณ์เศรษฐกิจและตัวชี้วัดที่สำคัญเช่น อัตราดอกเบี้ยหนี้สาธารณะระยะยาวยอดหนี้คงค้างสาธารณะที่ค้ำประกันโดยรัฐบาล, GDP, อัตราเงินเฟ้ออัตราการว่างงาน เป็นต้น ในปัจจุบันเป็นอย่างไร แตกต่างจากอดีตอย่างไร และแนวโน้มในอนาคตทั้งระยะสั้น และระยะยาวเป็นอย่างไร

ตอบ :

1.1.1 ภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2559 สภาวะเศรษฐกิจอาร์เจนตินาในปี 2559 ซบเซาและถดถอยอย่างต่อเนื่อง คาดว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ร้อยละ - 2.1 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงถึงร้อยละ 43.1
ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นมากจนประชาชนมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย การบริโภคภาคเอกชนจึงลดลง อีกปัจจัยหนึ่งของความถดถอยอาจเกิดจากความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจที่สะสมต่อเนื่องเป็นเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลประธานาธิบดี
 Néstor Kirchner และประธานาธิบดี Cristina Fernández de Kirchner มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบซ้าย-กลาง มีนโยบายปกป้องตลาดภายในประเทศและควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ขาดการหมุนเวียนของเงินทุนและสินค้า ขาดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งผลพวงจากภาระหนี้ vulture funds และการใช้จ่ายเงินเกินตัวของภาครัฐเพื่อนำไปอุดหนุนสังคม ทำให้เงินสำรองของประเทศร่อยหรอ นอกจากนี้ วิกฤตเศรษฐกิจในบราซิลมีผลกระทบต่ออาร์เจนตินาอย่างมากเพราะอาร์เจนตินาพึ่งพาตลาดบราซิลเป็นหลัก อุตสาหกรรมในประเทศขาดรายได้จากคู่ค้าสำคัญ และอาร์เจนตินามีขีดความสามารถในการแข่งขันกับโลกภายนอกต่ำ ทำให้เศรษฐกิจฝืดเคืองไม่ไหลเวียน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ นอกจากนี้ การที่อาร์เจนตินาพึ่งพารายได้จากการส่งออกสินค้าขั้นปฐมประเภทวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมากกว่าสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม จึงมักจะได้รับผลกระทบโดยตรงเมื่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกผันผวน

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลของประธานาธิบดี Mauricio Macri ซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบขวา-กลาง เข้าบริหารประเทศเมื่อ 10 ธ.ค. 2558 ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศโดยมุ่งขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่กลไกของตลาดโลกในระบบเศรษฐกิจเสรี และปรับปรุงกฎระเบียบการนำเข้า - ส่งออก ปรับปรุงมาตรการทางภาษี ลดอุปสรรคในการทำธุรกรรมต่าง ๆ เพื่อเอื้ออำนวยต่อการค้าการลงทุนกับต่างประเทศมากขึ้น แต่ยังไม่ส่งผลที่ชัดเจนมากนักในช่วงปีที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 12 - 15 ก.ย. 2559 รัฐบาลอาร์เจนตินาได้จัดงาน Argentina Business and Investment Forum (CEOs Forum) เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนในอาร์เจนตินา โดยเชิญผู้บริหารธุรกิจที่สำคัญ ๆ ทั้งจากในและต่างประเทศ รวมทั้งผู้แทนภาครัฐของประเทศต่าง ๆ รวมประมาณ 1,500 คน ตั้งเป้าให้เป็นงานใหญ่ครั้งประวัติการณ์ ซึ่งประสบความสำเร็จมากพอสมควร ประธานาธิบดี Macri หวังจะให้งานนี้เป็นเวทีจุดประกาย
ครั้งใหญ่เพื่อดึงดูดการค้าการลงทุนจากต่างชาติและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

ในอดีต อาร์เจนตินามีประวัติความผันผวนทางเศรษฐกิจอย่างสูง ในปี ค.ศ. 1914 ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 GDP อาร์เจนตินาเติบโตร้อยละ 6 ต่อปี สูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่งในขณะนั้น ร่ำรวยติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก (รองจากออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ร่ำรวยกว่าฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี) ชาวยุโรปจำนวนมากอพยพมาอาร์เจนตินาเพราะมีแนวโน้มว่าจะเป็นประเทศที่รุ่งเรืองและมีอนาคตประเทศหนึ่งของโลก

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (ราวปี ค.ศ. 1946 - 1948) ประธานาธิบดี Juan Domingo Peron และสตรีหมายเลขหนึ่ง Eva Peron เป็นผู้นำที่มีความโดดเด่นมากและได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างสูง เศรษฐกิจอาร์เจนตินาเฟื่องฟูมาก ประชาชนมีรายได้สูง เป็นประเทศที่มีอิทธิพลทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจเหนือกว่าประเทศอื่น ๆ ในลาตินอเมริกา ประธานาธิบดี Peron ดำเนินนโยบายประชานิยม จัดสรรเงินอุดหนุนประชาชนในรูปของสวัสดิการต่าง ๆ เร่งซื้อคืนกิจการหลายแห่งให้กลับมาเป็นของรัฐ (nationalization) ได้รับการชื่นชมจากประชาชนอย่างมาก แต่ต่อมาผลพวงจากนโยบายดังกล่าวทำให้เงินทุนของประเทศร่อยหรอ เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่

ต่อมาในยุคของประธานาธิบดี Carlos Menem (ค.ศ. 1989 - 1999) รัฐบาลได้ขายกิจการให้ต่างชาติ (privatization ) ในราคาถูก และมีการปรับเปลี่ยนมาตรการทางภาษีและอัตราแลกเปลี่ยนจนทำให้เศรษฐกิจขาดสมดุล เกิดปัญหาด้านแรงงาน การแข่งขันจากสินค้านำเข้า จนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้งในปี ค.ศ. 2001 - 2002

1.1.2 สถิติทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ในปี 2559 (ประมาณการ)

(1) อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ร้อยละ – 2.1

(2) ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 583.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

(3) รายได้ต่อหัวต่อปี (GDP per capita) 12,128 ดอลลาร์สหรัฐ

(4) อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 43.1

(5) อัตราแลกเปลี่ยน :

อัตราแลกเปลี่ยนทางการ ณ เดือน พ.ย. 2559 อยู่ที่ประมาณ 15 เปโซ/ดอลลาร์สหรัฐ

อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืด ณ เดือน พ.ย. 2559 อยู่ที่ประมาณ 15.5 เปโซ/ดอลลาร์สหรัฐ

(6) อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 26.75 ต่อปี

(7) หนี้สาธารณะ 323 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

(8) อัตราการว่างงาน ณ เดือน ก.ย. 2559 ประมาณร้อยละ 9.3

(9) อัตราความยากจน ณ เดือน ก.ย. 2559 ประมาณร้อยละ 34.5

(10) ดุลการค้าต่างประเทศเฉลี่ยต่อเดือน 705 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

(11) อัตราส่วนการลงทุนต่อ GDP ร้อยละ 18

 

1.1.3 ในระยะสั้น The Economist คาดการณ์เศรษฐกิจอาร์เจนตินาในช่วงปี ค.ศ. 2015 - 2020 ดังนี้

 

2015

2016

2017

2018

2019

2020

Real GDP growth (%)

2.4

-1.2

2.7

4.0

3.2

3.4

Consumer price inflation (avg. %)

26.5

42.8

23.5

13.6

9.4

7.9

Budget balance (% of GDP)

-4.8

-4.9

-4.3

-3.0

-2.8

-2.4

Current-account balance (% of GDP)

-2.5

-2.7

-2.4

-2.1

-2.2

-2.1

Money-market rate (avg. %)

22.0

31.7

23.7

14.3

10.2

9.1

Exchange rate Peso : US$ (avg.)

9.2

14.9

17.1

18.8

20.4

21.8

1.1.4 ในระยะยาว คาดว่าในช่วงปี ค.ศ. 2015 - 2050 GDP จะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 2.8 ต่อปี โดยในช่วงปี ค.ศ. 2021 - 2030 จะเติบโตสูงเฉลี่ยร้อยละ 3.1 ต่อปี และจะเติบโตช้าลงเหลือร้อยละ 2.5 ต่อปีในช่วงปี ค.ศ. 2041 - 2050

1.2 จากนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไป รัฐบาล/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการประเมินผลที่ได้ เช่น ปริมาณการลงทุนจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น หรือไม่ ผลที่ได้เป็นอย่างไร แตกต่างจากเป้าหมายอย่างไร

ตอบ ผลงานของรัฐบาล Macri ที่ถือได้ว่าโดดเด่นนับตั้งแต่เข้าบริหารประเทศ ได้แก่ การยกเลิกมาตรการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน การลดภาษีส่งออกบางรายการ การฟื้นฟูภาพลักษณ์ในเวทีระหว่างประเทศที่จะนำอาร์เจนตินากลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเสรีโลก และการเจรจากับเจ้าหนี้ vulture funds ซึ่งคืบหน้าไปมาก รัฐบาลชำระหนี้ได้เกือบหมดแล้ว

ในระหว่างการจัดงาน CEOs Forum เมื่อ ก.ย. 2559 Siemens ประกาศจะลงทุนในอาร์เจนตินา 5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในสาขาพลังงาน การขนส่ง และโครงสร้างพื้นฐาน Pan American Silver ประกาศจะลงทุนในอาร์เจนตินา 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในโครงการเหมืองแร่เงินใน จ. Chubut ซึ่งจะเป็นแหล่งแร่เงินดิบที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก Dow Chemical ประกาศจะลงทุนอย่างต่อเนื่องในสาขาปิโตรเคมิคอลใน Bahia Blanca และจะเริ่มโครงการพลังงานลมใน จ. Rio Negro ในไม่ช้าส่วน Grupo Enirgi จะเริ่มก่อสร้างเหมืองแร่ลิเธียมใน จ. Salta เร็ว ๆ นี้ ต่อมาเมื่อ 20 ก.ย. 2559 ระหว่างการเดินทางไป roadshow และร่วมประชุม UNGA ที่นครนิวยอร์กของประธานาธิบดี Macri บริษัท General Electric (GE) ได้ประกาศจะลงทุนในอาร์เจนตินา 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน 10 ปีข้างหน้าในสาขาพลังงานและการบิน ทั้งนี้ นาย John Kerry รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เคยประกาศในระหว่างการเยือนอาร์เจนตินาเมื่อ 3 - 4 ส.ค. 2559 ว่า สหรัฐฯ สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลอาร์เจนตินาที่จะกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก และจะผลักดันให้เกิดการลงทุนของสหรัฐฯ ในอาร์เจนตินาอย่างน้อย 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐหากประธานาธิบดี Macri ยังคงเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ธนาคารกลางอาร์เจนตินาประเมินว่า เงินลงทุนจากต่างชาติ (FDI) ที่ไหลเข้ามาในประเทศในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 มีเพียง 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่คาดการณ์ว่า จะเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลังของปี 2560

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามดูในระยะยาวว่า เงินลงทุนที่แท้จริงจะเป็นไปตามที่บริษัทต่าง ๆ ประกาศไว้หรือไม่ นักลงทุนบางรายอย่าง Joe Kaeser, President & CEO, Siemens กล่าวชักชวนให้นักลงทุนรายอื่น ๆ เร่งตัดสินใจมาลงทุนในอาร์เจนตินาเพราะขณะนี้ถือเป็นโอกาสทองและพรุ่งนี้ก็คงจะสายเกินไป ในขณะที่สื่อมวลชนตั้งข้อสังเกตว่านักลงทุนที่ยังลังเลที่จะลงทุนในอาร์เจนตินาในเวลานี้เป็นเพราะเห็นว่าอาร์เจนตินายังมีภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ยังไม่ฟื้นตัวดีพอ มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคง มีประวัติทางการเงินที่ขาดเสถียรภาพและเคยตกอยู่ในภาวะล้มละลายมาแล้ว รวมทั้งมีประวัติทางการเมืองที่อ่อนไหวง่าย

1.3 นโยบายการส่งเสริมลงทุนของรัฐบาลปัจจุบัน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเหมืองแร่

ตอบ รัฐบาลประธานาธิบดี Macri ได้พยายามอย่างต่อเนื่องที่จะแก้ไขภาพลักษณ์และฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ นักวิเคราะห์มองว่า ในบรรดามาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการมา มาตรการที่ถือว่าโดดเด่นลำดับต้น ๆ ได้แก่ การพยายามดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ การสร้างบรรยากาศทางธุรกิจและบรรยากาศทางเศรษฐกิจมหภาค การเอื้อต่อการแข่งขันในภาคเอกชน การค้าระหว่างประเทศ และการปรับปรุงมาตรการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนมาตรการทางภาษียังเป็นจุดที่ไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควรเพราะมีผู้เสียผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องจำนวนมากเป็นอุปสรรค แต่ในภาพรวมนับว่ารัฐบาลมีความพยายามในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างชัดเจน ที่ผ่านมา รัฐบาลอดีตประธานาธิบดี Cristina Fernández de Kirchner มีนโยบายที่ไม่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศเท่าใดนักทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น โดยเฉพาะในเรื่องการขาดงบประมาณอุดหนุนสาธารณูปโภคและบริการขนส่งสาธารณะโดยรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม การลงทุนเป็นเรื่องระยะยาวและต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผลชัดเจน อุตสาหกรรมเหมืองแร่ในอาร์เจนตินากำลังเติบโตและได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลอาร์เจนตินา ปัจจุบันมีบริษัทข้ามชาติไปลงทุนทำเหมืองแร่ในอาร์เจนตินาหลายบริษัท

เมื่อเดือน ม.ค. 2559 รัฐบาลประธานาธิบดี Macri ได้ประกาศปรับปรุงกฎระเบียบการควบคุมการส่งออกแร่ธาตุให้มีความสะดวกมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ลดลงได้ถึงร้อยละ 8 โดยรัฐบาลยอมเก็บภาษีส่งออกแร่ธาตุลดลง ในปีนี้คาดว่าจะเก็บภาษีได้น้อยลงประมาณ 223 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ซึ่งมาตรการนี้เป็นนโยบายของนาย 
Macri ตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง โดยนาย Macri มองว่าภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่มีโอกาสเติบโตได้มากในอาร์เจนตินา และอาร์เจนตินามีทรัพยากรแร่ธาตุจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การลดภาษีนำเข้าแร่ธาตุ การผ่อนปรนมาตรการจำกัดการส่งกลับผลกำไรกลับประเทศต้นทาง และการยกเลิกการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น

1.4 ประมาณการค่าแรงภายในประเทศในแต่ละอุตสาหกรรม

ตอบ :

ค่าจ้างขั้นต่ำทั่วไป 8,060 เปโซ/เดือน (มีผล ม.ค. 2560)

ค่าจ้างเฉลี่ยในภาคอุตสาหกรรมเหมืองแร่ 23,400 เปโซ/เดือน

ค่าจ้างเฉลี่ยในภาคอุตสาหกรรมน้ำมัน 60,000 เปโซ/เดือน

ค่าจ้างเฉลี่ยในภาคธุรกิจการเกษตร (เกษตรกร/ผู้ใช้แรงงาน) 9,000 เปโซ/เดือน

ค่าจ้างเฉลี่ยในภาคการขนส่งทางอากาศ 35,000 เปโซ/เดือน

ค่าจ้างเฉลี่ยในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ 32,700 เปโซ/เดือน

ค่าจ้างเฉลี่ยในภาคการธนาคาร 30,000 เปโซ/เดือน

ค่าจ้างเฉลี่ยในภาคธุรกิจร้านอาหาร 9,000 เปโซ/เดือน

ค่าจ้างเฉลี่ยสำหรับครู/อาจารย์ 10,000 เปโซ/เดือน

2. การเมือง

2.1 ความมั่นคงทางการเมืองในปัจจุบันเป็นอย่างไร มีเสถียรภาพเพียงใด และแนวโน้มในอนาคตเป็นเช่นไร

ตอบ :

ประธานาธิบดี Mauricio Macri เริ่มบริหารประเทศเมื่อ 10 ธ.ค. 2558 โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี และสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งต่อเนื่องได้อีก 1 สมัย ที่ผ่านมา แม้พรรคร่วมรัฐบาลซึ่งประกอบด้วยพรรค Propuesta Republicana (PRO) ของนาย Macri พรรค Unión Cívica Radical (UCR) และพรรค Civic Coalition (CC) จะมีเสียงข้างน้อยในรัฐสภา แต่ก็สามารถบริหารประเทศได้โดยยังไม่ประสบอุปสรรคทางการเมืองที่ชัดเจนจากพรรคฝ่ายค้านมากนัก แม้ว่าพรรค PRO จะมีขนาดเล็ก แต่เริ่มมีอิทธิพลทางการเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆนอกเหนือจากตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว ยังควบคุมรัฐบาลกรุงบัวโนสไอเรส และจังหวัดบัวโนสไอเรส ซึ่งรวมแล้วมีประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ

ในขณะที่กลุ่ม Frente para la Victoria (FV) ซึ่งเป็นกลุ่ม Peronist ประชานิยมเอียงซ้ายของอดีตประธานาธิบดี Cristina Fernández de Kirchner ต้องเผชิญกับการสอบสวนคดีคอร์รัปชั่นหลายคดีในช่วงที่ผ่านมา ทำให้อ่อนแรงลงไปบ้าง

อย่างไรก็ตาม กลุ่ม Peronist ยังคงมีเสียงข้างมากในทั้งสองสภา และปัจจุบันมีผู้แทนระดับจังหวัดถึง 12 จังหวัดจากทั้งหมด 24 จังหวัด กลุ่มการเมือง Peronist ฝ่ายซ้ายและฐานเสียงหลักของกลุ่มดังกล่าวที่เคยชินกับการอุดหนุนโดยรัฐบาลชุดก่อนและเป็นผู้เสียผลประโยชน์ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจในระยะยาว

2.2 พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกเป็นรัฐบาลในปัจจุบัน เคยได้รับการเลือกในอดีตหรือไม่ อย่างไร

ตอบ :

การเลือกตั้งเมื่อปี 2558 นับเป็นครั้งแรกที่พรรค PRO (ก่อตั้งโดยนาย Macri และแนวร่วมเมื่อปี 2548) ได้รับเลือกตั้งเป็นรัฐบาลระดับประเทศ นอกจากนี้ ยังชนะการเลือกตั้งระดับจังหวัด Buenos Aires จังหวัด Mendoza และจังหวัด Jujuy ซึ่งเป็นครั้งแรกที่พรรค PRO ชนะการเลือกตั้งระดับจังหวัดนอกเหนือจากระดับกรุงบัวโนสไอเรส

 

 

2.3 รัฐบาลมีวาระกี่ปี มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก่อนครบวาระบ่อยครั้งหรือไม่ เพราะเหตุใด

ตอบ :

รัฐบาลมีวาระ 4 ปี และต่อเนื่องได้อีก 1 สมัย หลังสิ้นสุดยุคเผด็จการทหารในปี ค.ศ. 1983 การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก่อนครบวาระมีไม่บ่อยครั้งนัก เพราะประชาชนส่วนใหญ่ต่อต้านการทำรัฐประหาร และกลไกทางการเมืองไม่เอื้ออำนวยให้เกิดการยุบสภาหรือลาออกจากตำแหน่งจากเหตุปัจจัยแวดล้อมก่อนครบวาระ

2.4 กระแส/เสียงตอบรับของประชาชนต่อนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน

ตอบ :

จากผลสำรวจ รัฐบาล Macri ยังคงได้รับความนิยมมากกว่าร้อยละ 50 แต่ลดลงจากในช่วงที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งร้อยละ 10 ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากมาตรการปรับลดเงินอุดหนุนสังคม เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าบริการขนส่งสาธารณะ และมาตรการกวดขันวินัยทางการเงิน

2.5 ถ้าในอนาคตมีการเปลี่ยนแปลงพรรคการเมืองที่ได้จัดตั้งรัฐบาล คาดว่าจะมีผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัทต่างชาติหรือไม่

ตอบ :

จากนโยบายพรรคการเมืองสำคัญ ๆ ที่ลงชิงชัยกับพรรค PRO ในการเลือกตั้งปี 2558 ส่วนใหญ่มีแนวทางส่งเสริมการค้าการลงทุนกับต่างชาติมากกว่ารัฐบาลอดีตประธานาธิบดี Cristina Fernández de Kirchner ดังนั้น อาจคาดการณ์ได้ว่า หากในอนาคต กลุ่มการเมืองเดิมของอดีตประธานาธิบดี Cristina Fernández de Kirchner ได้รับเลือกเข้ามาบริหารประเทศ ก็อาจมีผลกระทบในทางลบกับธุรกิจของบริษัทต่างชาติ แต่หากพรรค PRO หรือพรรคสำคัญอื่น ๆ ที่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งได้เข้ามาจัดตั้งรัฐบาล ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบกับธุรกิจของบริษัทต่างชาติในทางลบอย่างมีนัยสำคัญ แต่อาจมีผลในทางบวกมากกว่า

3. สังคม

3.1 ชาวอาร์เจนตินามีมุมมองต่อชาวต่างชาติ รวมถึงการลงทุนของชาวต่างชาติอย่างไรในอดีตและปัจจุบัน

ตอบ :

โดยทั่วไปอาร์เจนตินาเป็นประเทศที่เปิดกว้างรับผู้อพยพค่อนข้างมากมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ชาวอาร์เจนตินาส่วนใหญ่ที่อพยพมาจากยุโรปใต้และยุโรปตะวันออก เช่น อิตาลี สเปน อาร์เมเนีย และจากอาหรับ เช่น ซีเรีย เลบานอน ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา สามารถปรับตัวและบางส่วนผสมกลมกลืนกับคนที่อยู่มาก่อนหรือกับคนท้องถิ่นจนแยกไม่ออก บุคคลสำคัญหลายคนมีเชื้อสายอาหรับ เช่น อดีตประธานาธิบดี Carlos Menem มีเชื้อสายซีเรีย และนาง Juliana Awada ภริยาประธานาธิบดี Mauricio Macri มีเชื้อสายเลบานอน คนเชื้อสายยิว อาร์เมเนีย และอาหรับจำนวนมากมีเครือข่ายในวงการเมืองและถือครองธุรกิจสำคัญ ๆ ของอาร์เจนตินา ดังนั้น
จึงอาจกล่าวได้ว่า อาร์เจนตินาถือเป็นประเทศที่มีการหลอมรวมคนเชื้อสายต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่นมากพอสมควร ทั้งด้วยรูปลักษณ์หน้าตา ภาษา และการปรับตัวเข้ากับขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมท้องถิ่น จึงไม่ค่อยพบความขัดแย้งรุนแรงระหว่างคนต่างเชื้อชาติ
หรือต่างศาสนาในอาร์เจนตินา

แม้ว่าชาวอาร์เจนตินาส่วนใหญ่จะมิได้มีลักษณะกีดกันหรือเหยียดชาวต่างชาติ แต่ชาวอาร์เจนตินามีนิสัยรักพวกพ้อง ชอบเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม และชอบสร้างสายสัมพันธ์และความสนิทสนมส่วนบุคคล ไม่ชอบความขัดแย้ง ดังนั้น ชาวอาร์เจนตินาส่วนใหญ่จึงเห็นกลุ่มหรือพรรคพวกของตนสำคัญกว่าชาวต่างชาติหรือผู้ที่ตนไม่สนิทสนมด้วย และบางกรณีอาจถึงขั้นเห็นความสำคัญของประเด็นดังกล่าวเหนือความถูกผิดหรือจรรยาใด ๆ ปัจจัยดังกล่าวถือเป็นความท้าทายประการหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามหากจะทำการค้าหรือลงทุนในอาร์เจนตินา การไม่เคารพกฎเกณฑ์และการนิยมแก้ปัญหาด้วยการเข้าหาคนรู้จักพรรคพวกเพื่อหาลู่ทางให้ตนได้รับความสะดวกเหนือกฎหมายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีการคอร์รัปชั่นสูงในอาร์เจนตินา

ในอาร์เจนตินายังมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่มีอคติต่อธุรกิจต่างชาติโดยเห็นว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 2001 - 2002 มีสาเหตุมาจากการขายกิจการของรัฐให้แก่บริษัทต่างชาติในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 โดยส่วนมากจะมีอคติต่อธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น ธนาคาร สายการบิน โทรคมนาคม เป็นต้น

ชาวต่างชาติอีกกลุ่มหนึ่งที่อพยพมาหลายระลอกในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ได้แก่ ชาวจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี โดยมากมักประกอบธุรกิจที่ชุมชนของตนถนัด ไม่ค่อยมีปัญหาขัดแย้งกับใคร เช่น ชาวจีนมักประกอบธุรกิจค้าของชำ ชาวญี่ปุ่น - ธุรกิจซักแห้ง และชาวเกาหลี - ธุรกิจค้าขายเสื้อผ้า เป็นต้น

ผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ปารากวัย โบลิเวีย เวเนซุเอลา เป็นกลุ่มที่เข้ามามากขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะหลังเนื่องจากอาร์เจนตินาขาดแคลนผู้ใช้แรงงานในร้านค้า ร้านอาหาร ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรม รวมทั้งประเภทงานทำความสะอาดบ้านและเลี้ยงเด็ก

อาร์เจนตินามีอัตราการเกิดค่อนข้างต่ำ ผู้สูงอายุมีจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลมีภาระในการอุดหนุนเงินบำนาญ ค่ารักษาพยาบาล และสวัสดิการสังคมต่าง ๆ นอกจากนี้ การขาดแคลนคนวัยทำงาน ซึ่งทำให้ขาดแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การต้องพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมากส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมตามมา โดยเฉพาะในยามที่เศรษฐกิจซบเซา แรงงานอพยพขาดรายได้ อัตราการว่างงานและค่าครองชีพที่สูงทำให้เกิดการฉกชิงวิ่งราว การลักขโมยตามบ้านเรือน การค้ายาเสพติด และอาชญากรรมอื่น ๆ นอกจากนี้ การนัดหยุดงานประท้วงหรือปิดถนนของผู้ใช้แรงงานในภาคบริการต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคการขนส่งสาธารณะเพื่อเรียกร้องขอขึ้นค่าแรงมีอยู่เป็นระยะ ส่งผลกระทบต่อการสัญจรของประชาชน

ปัญหาสังคมอีกประการหนึ่ง คือ กลุ่มผู้ใช้แรงงานและผู้ว่างงานจำนวนมากมีความเคยชินกับการได้รับการอุดหนุนรายได้และสวัสดิการสังคมจากรัฐ ทำให้ไม่นิยมพึ่งตนเองและขาดแรงจูงใจในการประกอบอาชีพ
หารายได้ด้วยความสามารถของตนเอง ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตช้า และเป็นสังคมที่ไม่ค่อยเกิดความสร้างสรรค์หรือแรงผลักดันในการพัฒนาเท่าที่ควร

แนวโน้มของสภาวะภายในประเทศในปี 2560 ขึ้นอยู่กับผลงานการแก้ปัญหาเศรษฐกิจมหภาคของรัฐบาลเป็นสำคัญ หากรัฐบาลสามารถแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้คึกคักขึ้นมาได้ ก็น่าจะทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในรัฐบาลต่อไปและลดความเสี่ยงจากการถูกโจมตีผลงานโดยฝ่ายตรงข้ามและสหภาพแรงงาน

3.2 ประเทศอาร์เจนตินามีความเสี่ยงจากภัยก่อการร้ายหรือไม่

ตอบ :

ในภาพรวม ปัญหาการก่อการร้ายในอาร์เจนตินาถือว่าเบาบางกว่าหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก โดยทั่วไปไม่ค่อยพบเหตุก่อการร้ายบ่อยครั้ง และไม่ค่อยมีความขัดแย้งรุนแรงระหว่างคนต่างเชื้อชาติศาสนา ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะเหตุผลทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาร์เจนตินามิได้ตั้งอยู่ในเส้นทางคมนาคมหลักของโลกและมิได้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง รวมทั้งอาร์เจนตินาไม่มีนโยบายหรือบทบาทนำในปฏิบัติการต่อต้านกลุ่มสุดโต่งหรือปฏิบัติการในตะวันออกกลาง เช่น ในอิรักหรือซีเรีย

เหตุการณ์ก่อการร้ายครั้งรุนแรงล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2537 โดยเป็นกรณีลอบวางระเบิดอาคาร AMIA (Argentine Israelite Mutual Association) ของชุมชนยิวในกรุงบัวโนสไอเรส มีผู้เสียชีวิต 85 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวยิวซึ่งเป็นเป้าหมายของการโจมตี และเมื่อปี 2535 กรณีระเบิดพลีชีพด้วยรถยนต์ (car bomb) อาคารที่ทำการ สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำอาร์เจนตินา มีผู้เสียชีวิต 22 คน

คาดกันว่าพื้นที่สำคัญที่เป็นแหล่งพักพิงและฟอกเงินของกลุ่มก่อการร้าย ได้แก่ แนวชายแดนระหว่างอาร์เจนตินา ปารากวัย และบราซิล โดยเฉพาะเมือง Ciudad del Este ในปารากวัยที่เป็นแหล่งตลาดมืดจำหน่ายสินค้าหนีภาษีทุกชนิด รวมถึงอาวุธและยาเสพติด

4. ทั่วไป

4.1 เสถียรภาพในการประกอบธุรกิจของเอกชน โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติเป็นเช่นไร

ตอบ :

ในช่วง 50 - 60 ปีที่ผ่านมา อาร์เจนตินาผ่านความผันผวนทางการเมืองและเศรษฐกิจมากมาย มีทั้งช่วงที่รัฐบาลมีความเป็นมิตรต่อธุรกิจต่างชาติ และช่วงที่ไม่เอื้ออำนวยเท่าใดนัก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ได้แก่ ความแตกต่างของนโยบายต่อธุรกิจต่างชาติในช่วงรัฐบาลอดีตประธานาธิบดี Cristina Fernández de Kirchner กับช่วงรัฐบาลประธานาธิบดี Mauricio Macri ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ การเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเข้ามาค้าขายหรือลงทุนในอาร์เจนตินา

4.2 กฎหมายและกฎระเบียบที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการในประเทศอาร์เจนตินา ที่ควรทราบ รวมถึงสาระสำคัญ เช่นกฎหมายที่เกี่ยวกับการลงทุน กฎหมายแรงงาน เป็นต้น

ตอบ :

รัฐธรรมนูญอาร์เจนตินาระบุว่า ชาวต่างชาติและธุรกิจของชาวต่างชาติย่อมได้รับสิทธิและการคุ้มครองเท่าเทียมกับคนชาติอาร์เจนตินา กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของชาวต่างชาติ ได้แก่ Foreign Investment Law (No. 21382)

กฎหมายที่เกี่ยวกับการลงทุนในกิจการเหมืองแร่ ได้แก่ Law No. 24196 on Mining Activity; Laws No. 25429 และ 25161 (ฉบับปรับปรุง) The “Mining Code” (Law No. 1919; Decree No. 456/1997; Law No. 25225) ซึ่งระบุสิทธิประโยชน์ของนักลงทุนต่างชาติในกิจการเหมืองแร่ เช่น การได้รับการลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายในการสำรวจพื้นที่ การได้รับการลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายในการจัดทำแบบประเมินความคุ้มค่าของโครงการ และสามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าใช้จ่ายในการสำรวจพื้นที่ภายในระยะเวลา 12 เดือน การได้รับการยกเว้นค่าภาษีนำเข้า ได้รับยกเว้นภาษี 5 ปีจากค่าใช้จ่ายในการผลิตและจัดจำหน่าย ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายการรับประกันเสถียรภาพในการลงทุนโดยจะได้รับการคุ้มครองจากความเสี่ยงอันอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงมาตรการทางภาษีในอนาคตภายในห้วงระยะเวลาหนึ่ง

กฎหมายแรงงาน ได้แก่ Labor Contract Act No. 20744 และกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติ ได้แก่ Act No. 25871 ทั้งนี้ พึงตระหนักว่าอาร์เจนตินาเป็นประเทศที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้แรงงานอย่างมาก

4.3 เคยมีภัยพิบัติธรรมชาติครั้งรุนแรง โดยเฉพาะทางตอนบนของประเทศหรือไม่

ตอบ :

ทางตอนบนและตะวันตกของประเทศอาร์เจนตินาเคยประสบอุทกภัย ลมพายุ และแผ่นดินไหวบ้างเป็นระยะ ๆ เช่น จ. Mendoza, San Juan, Jujuy, Salta โดยเฉพาะพื้นที่ที่ติดกับชิลี แต่ยังไม่พบความรุนแรงที่กระทบต่อกิจการเหมือนแร่อย่างชัดเจน ส่วนมากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยมักเป็นที่ราบลุ่มของจังหวัดดังกล่าว ส่วนกิจการเหมือนแร่ที่อยู่ในพื้นที่สูงตามแนวเทือกเขาจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า

4.4 กลุ่มธุรกิจที่สำคัญของอาร์เจนตินาประกอบด้วยรายใดบ้าง กลุ่มเหล่านั้นประกอบธุรกิจอะไร แนวโน้มการเติบโตเป็นเช่นไร

ตอบ :

กลุ่มธุรกิจที่สำคัญของอาร์เจนตินา อาทิ

-          Aluar (อะลูมิเนียม)

-          Arcor S.A.I.C (อาหาร ขนม)

-          Bagó Group (ยา เวชภัณฑ์ สุขภาพสัตว์ ประกันภัย เคมีภัณฑ์)

-          BGH (คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์)

-          Bio Sidus (การวิจัยทางวิทยาศาสตร์)

-          Bulgheroni Group (พลังงาน น้ำมันเชื้อเพลิง)

-          Eduardo Elztain (อสังหาริมทรัพย์)

-          Eurnekian Group (สนามบิน น้ำมันเชื้อเพลิง อาหารสัตว์ อุตสาหกรรมการเกษตร ไวน์)

-          Grupo Clarín (สื่อสารมวลชน)

-          Loma Negra (ปูนซีเมนต์ คอนกรีต)

-          Los Grobo Group (ผลิตภัณฑ์จากสัตว์และพืช ถั่วเหลือง ไบโอเทคโนโลยี)

-          Los W Group (Werthein Family) (ธนาคาร ประกันภัย โทรคมนาคม อุตสาหกรรมการเกษตร พลังงาน ทอผ้า อสังหาริมทรัพย์ ไวน์)

-          Macri Group (ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ ยานยนต์ การเงิน การกำจัดขยะ)

-          Perez Company Group (อาหาร)

-          Roemmers Group (ยา)

-          Sociedad Comercial del Plata (พลังงาน การขนส่งทางรถไฟ อสังหาริมทรัพย์ ท่องเที่ยว)

-          Techint Group (วิศวกรรม ก่อสร้าง เหล็ก เหมืองแร่ น้ำมันและก๊าซ สุขภาพ)

-          YPF (น้ำมันและก๊าซ)

4.5 กลุ่มธุรกิจเหมืองแร่ของอาร์เจนตินาประกอบด้วยรายใดบ้าง กลุ่มเหล่านั้นประกอบธุรกิจอะไร แนวโน้มการเติบโตเป็นเช่นไร

ตอบ :

กลุ่มธุรกิจเหมืองแร่ที่สำคัญที่ลงทุนในอาร์เจนตินาส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติ อาทิ

-          Xstrata plc (Switzerland) (ทองแดง)

-          Enirgi Group (Canada) (ลิเธียม)

-          Goldcorp, Inc. (Canada) (ทองคำ)

-          Yamana Gold (Canada) (ทองคำ)

-          AngloGold Ashanti Ltd (South Africa) (ทองคำ เงิน)

-          Pan American Silver (Canada) (เงิน)

-          Silver Standard Resources (Canada) (เงิน)

-          FMC Corp. (US) (ลิเธียม)

-          Barrick Gold (Canada) (ทองคำ เงิน)

-          Unimin Corportation (Belgium) (ปูนขาว)

-          Jogmec (Japan) (ลิเธียม)

-          Don Nicolás (Argentina) (ทองคำ เงิน)

-          Grupo Calindra (Argentina)

 

*   *   *   *   *

 

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบัวโนสไอเรส

22 พฤศจิกายน 2559