คอร์รัปชั่น

    องค์กร Transparency International ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ (NGOs) ก่อตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านปัญหาคอร์รัปชั่น มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี และมีเครือข่ายอยู่ 120 ประเทศทั่วโลก ได้จัดอันดับคอร์รัปชั่นโลกประจำปี ค.ศ. 2011 (Corruption Perceptions Index 2011) ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้

 ในการจัดอันดับ องค์กร Transparency International อาศัยดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชั่น(Corruption Perceptions Index) ซึ่งเป็นการสำรวจระดับความรู้สึก/การรับรู้ของกลุ่มตัวอย่างต่อปัญหาคอร์รัปชั่นของภาครัฐในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งรวบรวมจากข้อมูลการสำรวจของสำนักโพลล์และรายงานขององค์การระหว่างประเทศต่างๆ อาทิ World Bank และ World Economic Forum เป็นต้น โดยเรียงลำดับจากประเทศที่มีค่าดรรชนีสูงที่สุด(ภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นน้อยที่สุด)จนถึงประเทศที่มีค่าดรรชนีต่ำที่สุด (ภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นมากที่สุด)
 
   ผลสำรวจการจัดอันดับดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นประจำปี ค.ศ. 2011 พบว่า ประเทศที่มีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นน้อยที่สุดในภูมิภาคลาตินอเมริกา คือ ชิลีและอุรุกวัย ซึ่งได้รับคะแนน 7.2 และ 7 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 ตามลำดับ ในขณะที่ ประเทศที่มีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นมากที่สุดในภูมิภาคลาตินอเมริกา คือ เวเนซุเอลา ซึ่งได้คะแนนเพียง 1.9 สำหรับอาร์เจนตินาในปีนี้ ได้รับ 3.0 คะแนนซึ่งจัดอยู่อับดับที่ 100 จากทั้งหมด 183 ประเทศทั่วโลก (ไทยอยู่อันดับที่ 80) และจัดอยู่อันดับที่ 20จาก 32 ประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริเบียน (เท่ากับเม็กซิโกและซูรินาเม)
 
      ถึงแม้อาร์เจนตินาจะถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่สูงขึ้นกว่าปี ค.ศ. 2010 (เมื่อปี ค.ศ. 2010 อาร์เจนตินาได้ 2.9 คะแนน อยู่อันดับที่ 105 จากทั้งหมด 178 ประเทศ) น่าจะหมายความว่าภาพ ลักษณ์คอร์รัปชั่นในอาร์เจนตินามีพัฒนาการที่ดีขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 2011 แต่องค์กร Transparency International ได้ชี้แจงอย่างชัดเจนว่าการจัดอันดับประเทศโดยดรรชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นไม่สามารถเปรียบเทียบปีต่อปีได้ เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อีกทั้ง จำนวนประเทศที่สำรวจก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น รายงานการจัดอันดับคอร์รัปชั่นโลกของ Transparency International เป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้กระตุ้นและสร้างกระแสในสังคมให้เกิดการตื่นตัวเกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชั่นในภาครัฐและเป็นเพียงการวัดความรู้สึก มิใช่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จึงไม่ควรใช้ข้อมูลดังกล่าวในการประเมินปัญหาคอร์รัปชั่นในแต่ละประเทศ ทั้งนี้ สามารถดูรายงานฉบับเต็มและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ cpi.transparency.org