การลงทุนจากต่างประเทศ

ศูนย์ BIC ขอรายงานข้อมูลการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ในอาร์เจนตินา โดยประมวลข้อมูลจากรายงาน “Foreign Direct Investment in Latin America and the Caribbean 2010” ของเลขาธิการ คกก. เศรษฐกิจแห่งลาตินอเมริกาและแคริบเบียน (ECLAC หรือ CEPAL) และรายงาน “Global Competitiveness Report 2011-2012” ของ World Economic Forum ดังนี้

ความเป็นมา              
ตามรายงานของ CEPAL พบว่า นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 เป็นต้นมา FDI ในอาร์เจนตินาปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ระหว่างปี ค.ศ. 2000-2010 มียอดเฉลี่ยประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เมื่อปี ค.ศ. 2008 FDI ในอาร์เจนตินามีจำนวนมากถึง 9.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดในรอบ 10 ปี ประเทศที่เข้าไปลงทุนในอาร์เจนตินามากที่สุดในเวลานั้น ได้แก่ สหรัฐฯ (2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เนเธอร์แลนด์ (1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)สวิตเซอร์แลนด์ (7 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ) และสเปน (7 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ) สาขาที่มีการลงทุนสูงสุด คือ ภาคอุตสาหกรรม (5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ตามด้วยภาคบริการ (3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และทรัพยากรธรรมชาติ (1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
 
ภายหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐและยุโรปเมื่อปี ค.ศ. 2008 FDI ในอาร์เจนตินาปรับตัวลดลงอย่างมาก จาก 9.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2008 เป็น 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ. 2009 โดยเฉพาะการลงทุนจากสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงมากถึงร้อยละ 88 จาก 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือเพียง 2.5 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะเดียวกัน การลงทุนจากเนเธอร์แลนด์ก็ลดลงอย่างมากเช่นกัน จาก 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เหลือเพียง 2 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกเหนือจากอาร์เจนตินาแล้ว สหรัฐฯ ได้ปรับลดการลงทุนของตนในภูมิภาคลาตินอเมริกาโดยรวม อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ยังรักษาระดับการลงทุนในชิลีไว้คงเดิมที่ 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 
 
จากการปรับตัวลดลงของ FDI ในปี ค.ศ. 2009 ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยการลงทุนลดลงจาก 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับมาติดลบ 5 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ
 
ในปี ค.ศ. 2010 FDI ปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้ง มีจำนวนประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ประเทศที่เข้าไปลงทุนในอาร์เจนตินามากที่สุด คือ จีน ซึ่งมีจำนวนสูงถึง 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยร้อยละ 90 ของการลงทุนทั้งหมดเป็นการลงทุนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากร ธรรมชาติ โดยเฉพาะในสาขาพลังงาน ล่าสุด บริษัท China National Offshor Oil Corp. (CNOOC) ได้ซื้อหุ้นร้อยละ 50 จากบริษัท Bridas Corp ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานอาร์เจนตินาที่มีความสำคัญอันดับสองรองจากบริษัท YPF ในมูลค่าประมาณ 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
           
FDI ในช่วงครึ่งแรกของปี ค.ศ. 2011
เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2554 CEPAL ได้จัดทำรายงาน FDI ในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริเบียน สำหรับครึ่งแรกของปี ค.ศ. 2011 ระบุว่า FDI ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 54 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี ค.ศ. 2010 มีจำนวนประมาณ 83 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยบราซิลเป็นประเทศที่ได้รับ FDI สูงสุด จำนวนประมาณ 44 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามดัวยเม็กซิโก (11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โคลอมเบีย (7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และชิลี (6.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)ในขณะที่ FDI ในอาร์เจนตินามีจำนวนประมาณ 2.4 พัน ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ CEPAL คาดว่า FDI ในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริเบียนยังจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในครึ่งหลังของปี ค.ศ. 2011
 
ถึงแม้ประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่มี FDI เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี ค.ศ. 2011 แต่มีอยู่ 5 ประเทศที่ FDI ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ คือ 1) ปารากวัย (ลดลงร้อยละ 31) 2)อาร์เจนตินา (ร้อยละ 30) 3) เม็กซิโก (ร้อยละ 18) 4) ชิลี (ร้อยละ 14) และ 5) อุรุกวัย (ร้อยละ 4)
                       
การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของอาร์เจนตินา
ตามรายงาน “Global Competitiveness Report 2011-2012” ของ World Economic Forum ซึ่งจัดทำขึ้นโดยใช้เกณฑ์ชี้วัดต่างๆ ภายใต้ 12 เสาหลัก ซึ่งประชาคมนักธุรกิจระหว่างประเทศให้ความสำคัญในการประกอบการตัดสินใจพบว่า เกณฑ์ชี้วัดด้านสาธารณสุขและการศึกษาของอาร์เจนตินาปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะจำนวนนักเรียนที่ลงทะเบียนในระดับอุดมศึกษา (Tertiary Education Enrollment) อันดับที่ 21 และเกณฑ์ชี้วัดด้านนวัตกรรม โดยเฉพาะคุณภาพของสถาบันวิจัยในประเทศ (Quality of Scientific Research Institutions) อันดับที่ 41 ซึ่งสูงกว่าประเทศต่างๆ ในลาตินอเมริกาและไทยด้วย ซึ่งเกณฑ์ชี้วัดทั้งสองดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าอาร์เจนตินามีบุคลากรที่มีการศึกษาสูงอยู่จำนวนมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ดี ความสามารถในการแข่งขันของอาร์เจนตินาในภาพรวมอยู่ที่อันดับ 85 จาก 142 ประเทศทั่วโลก ซึ่งได้ปรับขึ้น 2 อันดับจากปีก่อนหน้านี้ (ไทยอยู่ในอันดับที่ 39)  
 
ปัจจัยที่ยังเป็นอุปสรรค์สำคัญสำหรับการลงทุนและทำธุรกิจในอาร์เจนตินา ได้แก่ สภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันสูงเป็นอันดับสองในภูมิภาคลาตินอเมริกา รองจากเวเนซุเอลา ซึ่งส่งผลให้นักธุรกิจไม่สามารถวางแผนการผลิตและลงทุนได้ เพราะไม่มีความมั่นใจในราคาวัตถุดิบที่ต้องซื้อและการตั้งราคาที่เหมาะสมเพื่อคงไว้ซึ่งกำไร ปัญหาการคอรัปชั่น (Corruption) และกฎระเบียบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา (Policy Instability) นอกจากนี้ อาร์เจนตินายังมีกฎหมายให้ความคุ้มครองสิทธิทางด้านแรงงานอย่างมาก (Restrictive Labor Regulations) และสหภาพแรงงานที่มีอิทธิพล ซึ่งมีการประท้วงของกลุ่มแรงงานต่างๆ อยู่เป็นประจำ เพื่อเรียกร้องขอเงินรายได้เพิ่ม ส่งผลให้มีการหยุดงานและชะลอการผลิตอยู่เป็นประจำ
           
ข้อมูลเพิ่มเติม
ตามรายงาน “Foreign Direct Investment in Latin America and the Caribbean 2010” ของ CEPAL พบว่า การลงทุนด้านพลังงานของจีนในอาร์เจนตินาและบราซิลมีลักษณะแตกต่างจากในประเทศอื่นๆ อย่าง เวเนซุเอลา เปรู และเอกวาดอร์ ซึ่งจีนจัดทำเป็นความตกลงระหว่างรัฐต่อรัฐ เพื่อเข้าไปสำรวจและผลิตพลังงานในประเทศทั้งสามดังกล่าว แต่ในอาร์เจนตินาและบราซิล จีนร่วมลงทุนกับบริษัทท้องถิ่นหรือบริษัทข้ามชาติอื่นๆ ที่ดำเนินโครงการสำรวจและผลิตพลังงานอยู่แล้ว เพื่ออาศัยข้อได้เปรียบของภาษาและความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจของนักธุรกิจท้องถิ่น ตลอดจนเพื่อหลีกเลี่ยงการจัดทำความตกลงกับรัฐบาลที่มีความยากลำบากและซับซ้อนมากกว่า นอกจากนี้ จีนยังมีแผนการให้เงินช่วยเหลืออาร์เจนตินาสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ อาทิ การลงทุนก่อสร้างและพัฒนาเส้นทางรถไฟภายใต้โครงการ Belgrano Cargas ซึ่งมีความยาวประมาณ 10,841 ก.ม. โดยจะตัดผ่านจังหวัดสำคัญของอาร์เจนตินาหลายจังหวัด การขยายการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งของจีนเพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองให้กับบริษัทจีนที่จะเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในอาร์เจนตินาต่อไป
 
นอกเหนือจากการลงทุนด้านพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ การลงทุนผลิต Computer Software ในอาร์เจนตินาได้รับความสนใจมากขึ้นจากนักธุรกิจต่างชาติ เนื่องจากอาร์เจนตินามีกลุ่มแรงงานที่มีการศึกษาและความเชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์มากขึ้น โดยมี FDI มากเป็นอันดับ 3 ของลาตินอเมริกา รองจากบราซิลและเม็กซิโก ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา มีโครงการลงทุนผลิต Computer Software ในอาร์เจนตินาประมาณ 25 โครงการ ทั้งนี้ สามารถ download และอ่านรายงานฉบับเต็มได้จากเว็บไซด์ของ CEPAL ที่ www.eclac.cl
                                   
ในขณะที่ รัฐบาลอาร์เจนตินายังยึดมั่นในการดำเนินนโยบายส่งเสริมการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้า (import substitution) อย่างชัดเจน และมีมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non Tariff Barriers -NTBs) เพื่อกีดกันคู่แข่งจากต่างประเทศ มากยิ่งขึ้น สถานเอกอัครราชทูตฯ เห็นว่า กลุ่มนักธุรกิจไทยควรพิจารณาและหันมาสนใจที่จะลงทุนในอาร์เจนตินามากกว่าการส่งสินค้ามาขายเพียงอย่างเดียว ซึ่งสาขาที่ฝ่ายไทยมีศักยภาพที่จะลงทุนในอาร์เจนตินา ได้แก่ ด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งการบริหารจัดการโรงแรม ร้านอาหารไทย และนวดแผนไทย ซึ่งเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในกลุ่มชาวอาร์เจนตินา ตลอดจนการแปรรูปและผลิตผลไม้กระป๋อง โดยอาจจะเริ่มลงทุนร่วมกับนักธุรกิจท้องถิ่นคล้ายกับที่จีนดำเนินการอยู่ เพื่ออาศัยข้อได้เปรียบของภาษาและความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจในอาร์เจนตินาของนักธุรกิจท้องถิ่น