สรุปสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในอาร์เจนตินาปี 2558 และแนวโน้มปี 2559
1. การเมือง
การเมืองอาร์เจนตินาปี 2558 ส่วนใหญ่เกี่ยวโยงกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีซึ่งผลปรากฏว่า นาย Mauricio Macri ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่แทนอดีตประธานาธิบดี Cristina Fernandez de Kirchner (CFK) โดยทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 10 ธ.ค. 2558 กลุ่มชนชั้นกลาง/ชั้นบนและภาคธุรกิจส่วนใหญ่ลงคะแนนเสียงให้กับนาย Macri เพราะต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจเสรีมากขึ้นและมีกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจตามนโยบายที่นาย Macri ใช้ในการรณรงค์หาเสียง
2. เศรษฐกิจ
2.1 ภาพรวม
ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2558 สภาวะเศรษฐกิจอาร์เจนตินาค่อนข้างซบเซา เติบโตเพียงร้อยละ 0.4 การค้าขายกับบราซิลซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญที่สุดของอาร์เจนตินาลดลงอย่างต่อเนื่องเพราะทั้งสองประเทศเพิ่มมาตรการกีดกันการนำเข้าสินค้า ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ไม่พอใจในมาตรการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ การกีดกันการนำเข้า การจำกัดโควตาส่งออก และนโยบายปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศของรัฐบาลประธานาธิบดี CFK นักลงทุนชะลอการลงทุนเพื่อรอดูผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีในช่วงปลายปี การเจรจาชำระหนี้ vulture funds ยังไม่ได้ข้อยุติ อัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
2.2 สถิติทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ในปี 2558
2.2.1 อัตราเงินเฟ้อ อัตราเงินเฟ้อในปี 2558 ลดต่ำลงกว่าปี 2557 แต่ก็นับว่ายังสูงอยู่มากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ นักเศรษฐศาสตร์เห็นว่ารัฐบาลอาร์เจนตินาควรหยุดหรือลดการพิมพ์ธนบัตรสำหรับการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อในระยะสั้น-กลาง การประเมินอัตราเงินเฟ้อในปี 2558 โดยสถาบันต่าง ๆ มีดังนี้
(1) ประเมินโดย INDEC หรือสำนักงานสถิติแห่งชาติอาร์เจนตินา อยู่ที่ร้อยละ 14.2 (ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 23.9)
(2) ประเมินโดย Econométrica สถาบันเอกชนที่เชื่อถือได้ด้านการจัดทำสถิติทางเศรษฐกิจของอาร์เจนตินา อยู่ที่ร้อยละ 26.9 (ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 38.7)
(3) ประเมินโดยพรรคฝ่ายค้านอาร์เจนตินา อยู่ที่ร้อยละ 26 (ปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 38.5)
2.2.2 อัตราแลกเปลี่ยน
(1) อัตราแลกเปลี่ยนทางการ อัตราแลกเปลี่ยนทางการ ณ วันที่ 9 ธ.ค. 2558 อยู่ที่ 9.695 เปโซ/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเฉลี่ยของการเพิ่มขึ้นของอัตราแลกเปลี่ยนทางการตลอดทั้งปีนับจนถึงปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 14 (จาก 8.12 เปโซ/ดอลลาร์สหรัฐในปี 2557 เป็น 9.31 เปโซ/ดอลลาร์สหรัฐในปี 2558)
(2) อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืด อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืด ณ วันที่ 9 ธ.ค. 2558 อยู่ที่ 14.65 เปโซ/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเฉลี่ยของการเพิ่มขึ้นของอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืดตลอดทั้งปีนับจนถึงปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 6 (จาก 12.46 เปโซ/ดอลลาร์สหรัฐในปี 2557 เป็น 13.30 เปโซ/ดอลลาร์สหรัฐในปี 2558)
เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2558 รัฐบาลประธานาธิบดี Macri ได้ประกาศยกเลิกการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราซึ่งทำให้อัตราในตลาดทางการปรับตัวขึ้นมาใกล้เคียงกับอัตราตลาดมืด หรือประมาณ 13 เปโซ/ดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าในที่สุดจะปรับตัวเป็นอัตราเดียวกันในอนาคตอันใกล้
2.2.3 อัตราการว่างงาน ร้อยละ 6.6 ลดลงจากปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 7.5
2.2.4 เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ 27,100,000,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 30,500,000,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
2.3 การบริโภคภายในประเทศและการค้าระหว่างประเทศ
2.3.1 การบริโภคภายในประเทศ
(1) การบริโภคภาคครัวเรือน มูลค่าการบริโภคภาคครัวเรือนนับจนถึงเดือน มิ.ย. 2558
อยู่ที่ 6,527,423,596,000 เปโซ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ 0.8 โดยพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อด้วย
(2) การบริโภคสินค้าสาธารณะ มูลค่าการบริโภคสินค้าสาธารณะนับจนถึงเดือน มิ.ย. 2558 อยู่ที่ 1,657,259,058,000 เปโซ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ 8.4 โดยพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อด้วย
2.3.2 การค้าระหว่างประเทศ
(1) มูลค่าการส่งออกนับจนถึงเดือน ต.ค. 2558 อยู่ที่ 52,468 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ 16 มูลค่าการส่งออกลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 24 เนื่องจากราคาสินค้าส่งออกตกต่ำลงและค่าเงินเปโซแข็งค่าเกินความเป็นจริง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายนอกจากการลดลงของอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะบราซิล
(2) มูลค่าการนำเข้านับจนถึงเดือน ต.ค. 2558 อยู่ที่ 50,662 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ 10
(3) ดุลการค้าระหว่างประเทศเกินดุล 1,806 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกินดุลลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ 79
2.4 การลงทุน รัฐบาลประธานาธิบดี CFK มีนโยบายที่ไม่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศมากนักทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นโดยเฉพาะในเรื่องการขาดงบประมาณอุดหนุนสาธารณูปโภคและบริการขนส่งสาธารณะของ รัฐบาลโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่มีคุณภาพและภาวะภัยแล้งนำไปสู่การขาดแคลนไฟฟ้าและน้ำประปา การขาดการพัฒนาระบบขนส่งสินค้าทางเลือกอื่น ๆ ที่เพียงพอทำให้ห่วงโซ่อุปทานต้องพึ่งพาการขนส่งทางถนนมากเกินไปและได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนพลังงาน การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) นับจนถึงเดือน มิ.ย. 2558 มีมูลค่า 5,302 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นักลงทุนจำนวนหนึ่งชะลอการลงทุนเพื่อรอดูนโยบายของรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง
2.5 อุตสาหกรรม การผลิตในภาคอุตสาหกรรมซึ่งวัดจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมนับจนถึงเดือน ก.ย. 2558 หดตัวร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 ปัจจัยสำคัญมาจากการลดลงของการผลิตในภาคยานยนต์นับจนถึงเดือน ก.ย. 2558 ซึ่งหดตัวลงร้อยละ 9.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557
2.6 การท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าอาร์เจนตินานับจนถึงเดือน ส.ค. 2558 อยู่ที่ 3,859,100 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ 0.9 จำนวนนักท่องเที่ยวอาร์เจนตินาที่เดินทางไป ประเทศไทยนับจนถึงเดือน ต.ค. 2558 อยู่ที่ 22,329 คน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2557 ร้อยละ 19.8
2.7 โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค
2.7.1 เมื่อเดือน เม.ย. 2558 รัฐสภามีมติเห็นชอบต่อร่างกฎหมายการซื้อคืนกิจการรางรถไฟให้เป็นของรัฐอีกครั้ง ภายใต้ชื่อ Nuevos Ferrocarriles Argentinos
2.7.2 เมื่อเดือน ต.ค. 2558 อาร์เจนตินาได้รับมอบตู้โบกี้รถไฟบรรทุกสินค้าล็อตแรก จำนวน 150 ตู้ จากทั้งหมด 3,500 ตู้ และหัวรถจักร 100 หัว ที่สั่งซื้อจากจีนแล้ว ตามสัญญาเงินกู้ 2,470 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อปรับปรุงระบบราง 3,000 กม.
2.7.3 ในปี 2558 อาร์เจนตินาประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียม ARSAT-2 ขึ้นสู่อวกาศ ซึ่งถือเป็นดาวเทียมดวงที่ 2 ที่อาร์เจนตินาสามารถผลิตได้เอง หลังจากที่ปล่อยดาวเทียม ARSAT-1 เมื่อปี 2557 โดย ARSAT-2 มีความสามารถในการให้บริการด้านโทรคมนาคมทั้งอินเทอร์เน็ต โทรทัศน์ และโทรศัพท์ ครอบคลุมทั้งทวีปอเมริกา หลังจากนี้ยังมีแผนการที่จะผลิตดาวเทียม ARSAT-3 ขึ้นสู่อวกาศในเร็ว ๆ นี้ นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการบินและอวกาศและการสำรวจอวกาศร่วมกับจีนและรัสเซียด้วย
2.7.4 อาร์เจนตินาได้ลงนามความตกลงกับจีนเมื่อ ก.พ. 2558 ในการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในอาร์เจนตินา 2 แห่ง ซึ่งจะทำให้อาร์เจนตินามีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ทั้งหมด 5 แห่ง และจะทำให้อาร์เจนตินาสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้นกว่าเดิม 2 เท่า
2.7.5 จีนกำลังจะเริ่มสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าบริเวณแม่น้ำ Santa Cruz ในแถบ Patagoniaตามความตกลงที่ลงนามเมื่อ ก.พ. 2558 จำนวน 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อน Nestor Kirchner กำลังการผลิตไฟฟ้า 1,140 เมกะวัตต์ และเขื่อน Jorge Cepernic กำลังการผลิตไฟฟ้า 600 เมกะวัตต์ คาดว่าจะผลิตไฟฟ้าได้ทั้งสิ้นร้อยละ 4 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ ครอบคลุม 1.5 ล้านหลังคาเรือน และยังช่วยประหยัดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติถึง 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
3. สังคม
3.1 ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเป็นหนึ่งในปัญหาที่สำคัญที่สุดของอาร์เจนตินาในปี 2558 อันเกิดจากการฉกชิงวิ่งราว ปล้น ฆ่า ชิงทรัพย์ และอาชญากรรมที่เกิดกับสตรี สาเหตุหลักมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจซึ่งเงินเฟ้อสูงจนทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นจนประชาชนโดยเฉพาะคนยากจนและผู้อพยพมาจากประเทศเพื่อนบ้านขาดรายได้เลี้ยงดูครอบครัว ปัญหาการว่างงาน และปัญหายาเสพติด
3.2 การค้ายาเสพติดยังคงเป็นปัญหาสำคัญของอาร์เจนตินาในปี 2558 อาร์เจนตินาเป็นเส้นทางลำเลียงยาเสพติดที่สำคัญที่สุดประเทศหนึ่งในลาตินอเมริกา และปัจจุบันเป็นตลาดค้ายาเสพติดด้วย ปัญหาการเสพและครอบครองยาเสพติดของประชาชนอาร์เจนตินาเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าจากปี 2553 โดยเฉพาะการเสพโคเคน รวมทั้งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อาชญากรรมในประเทศเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลต้องใช้งบประมาณถึงร้อยละ 1.4 ของ GDP ในการแก้ปัญหานี้ มีรายงานข่าวว่านักการเมืองมีส่วนทำให้ปัญหานี้ลุกลามยิ่งขึ้นเพราะเงินทุนในการรณรงค์หาเสียงส่วนหนึ่งมาจากพ่อค้ายาเสพติดซึ่งติดสินบนนักการเมืองเหล่านั้น การปราบปรามยาเสพติดถือเป็นนโยบายสำคัญของนาย Macri ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงด้วย
3.3 การใช้ความรุนแรงต่อสตรีเป็นอีกปัญหาหนึ่งของอาร์เจนตินา ในทุก 31 ชั่วโมงจะมีสตรีในอาร์เจนตินาถูกฆาตกรรม 1 คน กฎหมายอาร์เจนตินามีบทลงโทษไม่รุนแรงในคดีความรุนแรงต่อสตรี เมื่อ 4 มิ.ย. 2558 มีการเดินขบวนประท้วงเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงต่อสตรี และให้แก้กฎหมายให้มีบทลงโทษรุนแรงมากขึ้น
3.4 ปัญหาเงินเฟ้อทำให้มีการรวมตัวนัดหยุดงานประท้วงหลายครั้งเพื่อขอเพิ่มค่าแรง และประท้วงเรื่องอัตราภาษีเงินได้ที่สูงเกินไป เมื่อ 31 มี.ค. 2558 ได้มีการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ของพนักงานในระบบขนส่งสาธารณะทั่วกรุงบัวโนสไอเรส ทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้บริการรถโดยสารสาธารณะได้ในวันดังกล่าว
4. แนวโน้มปี 2559
4.1 แนวโน้มของสภาวะภายในประเทศในช่วงแรกของปี 2559 โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นเนื่องจากแรงสนับสนุนของภาคประชาสังคมที่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงประเทศโดยรัฐบาลใหม่ ซึ่งหากการบริหารประเทศเป็นไปอย่างราบรื่นการเปลี่ยนแปลงก็น่าจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่หากพรรคฝ่ายค้านซึ่งมีฐานเสียงเป็นคนยากจนในต่างจังหวัดจำนวนมาก รวมทั้งสหภาพแรงงานที่มีอำนาจ
การต่อรองสูง สามารถร่วมกันโจมตีรัฐบาลใหม่ด้วยการชูประเด็นที่ถูกใจคนจน เช่น การตัดสวัสดิการหรือลดการอุดหนุนทางสังคมรัฐบาลใหม่ก็อาจเกิดความระส่ำระสาย ซึ่งประเด็นดังกล่าวถูกปลุกกระแสได้ง่ายในอาร์เจนตินา และเป็นประเด็นทางสังคมให้ Peronism และพรรครัฐบาลเดิมสามารถสืบทอดอำนาจในอาร์เจนตินาได้อย่างยาวนาน
4.2 การฟื้นฟูสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซามากว่า 4 ปี นั้น รัฐบาลเน้นการแก้ปัญหาระบบการเงินการคลังที่ไม่สมดุลและเป็นปัญหาที่สะสมมานาน ที่สำคัญ คือ การแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่สูงถึงตัวเลขสองหลักมากว่า 10 ปีแล้ว และหาทางคลี่คลายหนี้ vulture funds ให้ลุล่วง รวมถึงการแก้ปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพมากกว่านี้ ความสามารถและความรวดเร็วในการแก้ปัญหาดังกล่าวจะมีผลต่อการสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนและความน่าเชื่อถือของประเทศ ในระหว่างการรณรงค์หาเสียง นาย Macri ได้ประกาศนโยบายด้านเศรษฐกิจที่จะลดอัตราเงินเฟ้อ ยุติการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ลดการอุดหนุนบริการสาธารณูปโภคและบริการขนส่งสาธารณะ ลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ และปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการทำธุรกิจ
4.3 นักวิเคราะห์บางส่วนคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจระยะสั้นของอาร์เจนตินาในปี 2559 จะหดตัวลงอันเป็นผลจากนโยบายลดการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งจะทำให้ค่าเงินเปโซอาร์เจนตินาอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว โดยจะส่งผลถึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จะพุ่งสูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดต่ำลง โดยธนาคาร Barclays ของอังกฤษคาดว่าจะหดตัวร้อยละ 1.1 IMF คาดว่าหดตัวร้อยละ 0.4 ในขณะที่ธนาคารโลกคาดว่าจะยังคงเติบโตเพียงร้อยละ 0.9 และคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจลาตินอเมริกาและแคริบเบียนคาดว่าเติบโตได้ร้อยละ 1.6 อย่างไรก็ตาม เชื่อว่านโยบายของนาย Macri จะทำให้เศรษฐกิจหดตัวในระยะสั้นเท่านั้น แต่จะช่วยให้เติบโตขึ้นในระยะยาว เพราะเชื่อมั่นว่า ในระยะยาวรัฐบาลใหม่น่าจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาให้ดีขึ้น ประเทศจะมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น เอื้ออำนวยต่อการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น และมีการจัดระเบียบสถาบันทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ เงินสำรองระหว่างประเทศของอาร์เจนตินาคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสแรก
4.4 อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนเตือนให้ระวังการเกิดสภาวะฟองสบู่ซ้ำรอยทศวรรษ 1990 สมัย ประธานาธิบดี Carlos Menem ซึ่งมีการเปิดการค้าเสรี แปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชน และดึงดูดเงินทุนจาก ต่างประเทศจำนวนมาก แต่สุดท้ายไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ทำให้ต่างชาติถอนทุนออกภายหลังและนำไปสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจ
5. ความสัมพันธ์ทางการค้ากับไทย และแนวโน้มในปี 2559
5.1 มูลค่าการค้าไทย - อาร์เจนตินาในปี 2557 และ 2558 ลดลงจากปี 2556 อันเนื่องมาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ รวมทั้งจากนโยบายปกป้องตลาดในประเทศของอาร์เจนตินา
5.2 หากนาย Macri ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการต่างประเทศตามที่ประกาศไว้ ผลกระทบต่อไทยน่าจะเป็นไปในเชิงบวก กล่าวคือ รัฐบาลใหม่น่าจะมีการเปิดเสรีทางการค้ามากขึ้นและลดอุปสรรคการนำเข้าสินค้านอกจากนี้ การสนับสนุน Pacific Alliance และการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศที่มีนโยบายส่งเสริมการค้าเสรีจะสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจของไทย และเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทยด้วย
5.3 นาย Macri ถือเป็นประธานาธิบดีอาร์เจนตินาคนแรกที่สนับสนุน FTAs และโดยที่เป็นนักธุรกิจมาก่อนจึงเข้าใจในความสำคัญของระบบตลาดเสรี บิดาของนาย Macri เป็นนักธุรกิจลำดับต้น ๆ ของอาร์เจนตินา
เป็นผู้บุกเบิกการค้ากับจีนและเคยร่วมทุนกับบริษัท Chery ของจีนผลิตรถยนต์ยี่ห้อ Chery-Socma ประสบการณ์ดังกล่าวกอปรกับนโยบายเปิดประตูทางเศรษฐกิจและเชื่อมโยงกับตลาดโลกน่าจะทำให้นาย Macri เห็นความสำคัญของการค้าขายกับภูมิภาคเอเชียและอาเซียนด้วย
* * * * *